‘เลิร์นฯ’ ส่งแพลตฟอร์มสู้โควิด ชูไอทีผสมผสานเชื่อมครู-นร.
“เลิร์นเอ็ดดูเคชั่น” ถอดประสบการณ์ 9 ปีที่คลุกคลีกับโรงเรียนทั่วประเทศ พัฒนา “นวัตกรรมการเรียนแบบผสมผสานออนไลน์สำหรับโรงเรียน” ระหว่างครูและนักเรียนท่ามกลางมาตรการปิดโรงเรียนรับมือโควิด-19 คำนึงถึงผลลัพธ์ที่ดีที่เด็กนักเรียนจะได้รับจากนวัตกรรม
ชูธง "โซลูชั่นการศึกษา" ยุคโควิดครบวงจร
ธานินทร์ ทิมทอง ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ด้านนวัตกรรมการศึกษาในเครือ เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า เนื่องด้วย เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น ทํางานด้านการศึกษามากว่า 9 ปี คลุกคลีกับโรงเรียน นักเรียน และครู จากทั่วประเทศ ทำให้เล็งเห็นช่องว่างทางการศึกษาที่เราสามารถช่วยพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ซึ่งไม่ได้พัฒนาเฉพาะนวัตกรรมการศึกษาที่เป็นระบบเรียน วิธีเรียน หรือเนื้อหาวิชาการเท่านั้น แต่เราคำนึงถึงผลลัพธ์ที่ดีที่เด็กนักเรียนจะได้รับจากนวัตกรรม ควบคู่กับการเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับบริบทและความต้องการของแต่ละพื้นที่ เพราะในสถานที่ต่างกัน ความสามารถในการเข้าถึงข่าวสารและเทคโนโลยีก็จะแตกต่างกันตามไปด้วย “ครู” จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความรู้ให้กับเด็กนักเรียนเป็นหลัก จากช่องว่างตรงนี้ที่สอดคล้องกับเป้าหมายหลักของ “เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น” ที่จะพัฒนาการศึกษาไทยในทุกมิติจึงเป็นที่มาของ “นวัตกรรมการเรียนแบบผสมผสานออนไลน์สำหรับโรงเรียน” ระหว่างครูและนักเรียน
ซึ่งก่อนที่จะเป็น ‘นวัตกรรมการเรียนแบบผสมผสานออนไลน์สำหรับโรงเรียน’ เราทำระบบการเรียนแบบผสมผสาน (Blended Learning) ให้โรงเรียนมาก่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนในห้องเรียนโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยคุณครู ซึ่งครูสามารถแทรคข้อมูลเด็กได้เป็นรายบุคคล และสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ในการจัดการเรียนรู้ให้เด็กอย่างตรงประเด็น ทำให้มีโรงเรียนอยู่ในระบบกว่า 170 แห่งทั่วประเทศ ทั้งกลุ่มโรงเรียนที่มีกำลังซื้อและกลุ่มโรงเรียนที่ขาดโอกาสในต่างจังหวัดกว่า 45 จังหวัดทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่เราจะเน้นที่โรงเรียนต่างจังหวัดเนื่องจากเราโฟกัสในพื้นที่ที่มีความท้าทาย ในรูปแบบเดิมเราจะนำเซิร์ฟเวอร์คอนเทนต์เข้าไปติดตั้งทีละโรงเรียน แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 เราไม่สามารถนำระบบไปติดตั้งในโรงเรียนได้ จึงเกิดเป็นปัญหาที่ว่าจะเข้าไปช่วยเหลือการเรียนการสอนของครูได้อย่างไร เพราะในสภาวการณ์เช่นนี้ครูก็จำเป็นที่จะต้องมีเทคโนโลยีเพื่อช่วยซัพพอร์ตจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อแก้ไขปัญหาในขณะที่มีมาตรการสั่งปิดสถานศึกษา จึงเป็นที่มาของการยกระดับระบบการเรียนการสอนแบบผสมผสานในรูปแบบเดิมสู่แนวความคิดของ “ระบบการเรียนแบบผสมผสานออนไลน์สำหรับโรงเรียน (Online Blended Learning)”
ปิดจุดอ่อนเรียนออนไลน์
ดังนั้นระบบที่เราดีไซน์จะพยายามสร้างการมีส่วนร่วมของครูกับนักเรียน โดย ระบบการเรียนแบบผสมผสานแบบออนไลน์ (Online Blended Learning) เราอยากจะพยายามแก้ปัญหารูปแบบการเรียนออนไลน์แบบเดิมๆ ซึ่งปัญหาใหญ่ของการเรียนออนไลน์ก่อนหน้านี้คือ 1.เด็กเรียนหรือไม่ เราไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งเราพยายามแก้ปัญหาโดยการดึงครูเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการเรียนรู้ 2.เมื่อเด็กเรียนผ่านทางออนไลน์และเกิดความไม่เข้าใจในเนื้อหาไม่สามารถปรึกษาใครได้ เราจึงทำระบบเคลียร์คือหากเด็กมีคำถามเกี่ยวกับการเรียนรู้ในทุกๆเรื่องที่อยู่ในระบบจะสามารถโพสต์เข้ามาในระบบจะมีผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นทีมงานหลังบ้านกว่า 100 คน ที่ดูแลเรื่องวิชาการคอย ตอบให้ภายใน 24 ชั่วโมง ตรงจุดนี้จึงเป็นการช่วยปิดจุดอ่อนของการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์แบบเดิมได้ไปอีกขั้น และทำให้ประสบการณ์ในการเรียนผ่านออนไลน์ดียิ่งขึ้น
โดยนวัตกรรมการศึกษา ‘Online Blended Learning Solution’ ที่ผสมผสานเทคโนโลยีเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการ สนับสนุนการเรียนรู้ ช่วยให้ครูสามารถมอบการศึกษาที่มีคุณภาพแก่นักเรียนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกระบวนการนั้นเราจะส่งลิงค์ดาวน์โหลดไปยังทางโรงเรียนที่สนใจใช้ระบบหรือผ่านทางครูโดยตรง หลังจากดาวน์โหลดแล้ว ครูจะเห็นภาพรวมของทั้งห้อง ผ่าน Teacher portal report หากนักเรียนได้คะแนนเฉลี่ยที่ไม่ถึงเกณฑ์แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจต่อบทเรียนนั้นๆ ครูก็สามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เด็กเข้าใจเรื่องเหล่านั้นมากยิ่งขึ้น โดยอาจจะมีการเรียนผ่านzoom กูเกิ้ลแฮงเอาท์ และระหว่างนี้หากเด็กไม่เข้าใจก็จะมีทีมส่วนกลางในการช่วยตอบคำถามซึ่งถือเป็นการช่วยลดภาระของครูผู้สอนได้อีกทางหนึ่ง
เคลียร์ทุกครอส ทุกที่ ทุกเวลา
โดยมี Learn Anywhere นวัตกรรมการเรียนออนไลน์รูปแบบใหม่ซึ่งเปรียบเสมือนแพลตฟอร์มที่เรียนได้ทุกอุปกรณ์ ทุกที่ ทุกเวลา โดยจะเรียนตามหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อที่จะทำให้คุณครูนำไปประยุกต์ใช้ได้ง่าย อีกทั้งใช้เทคนิคตัดต่อมาเสริม ทำให้การเรียนรู้น่าสนใจ และคอนเทนต์มีสีสัน เรียนสนุก เข้าใจง่าย โดยเราโฟกัสตั้งแต่ระดับประถมปลายจนถึงมัธยมปลายตามมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ วิชาหลักๆคือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และวิทยาการคำนวณ และเมื่อเรียนเสร็จก็จะมีการทำควิซหรือแบบทดสอบ เด็กก็จะรู้คะแนนทันทีทำให้ทราบจุดแข็งและจุดอ่อนของตน ในขณะเดียวกันจากการเรียนและการทำควิซก็จะมีข้อมูลหลังบ้านส่งไปให้ครูว่าเด็กนักเรียนเข้าใจการเรียนการสอนหรือไม่
“โดยระบบของเราเป็นแอพพลิเคชั่นเบสที่สามารถดาวน์โหลดได้จากทุกอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นไอโอเอส (IOS) แอนดรอยด์ (Android) วินโดวน์ (Windows) ขั้นตอนการใช้งานง่ายๆคือ 1.ดูบทเรียน และดาวน์โหลดเอกสารประกอบการเรียน 2.อัพเดตความคืบหน้าการเรียนแบบเรียลไทม์ 3.หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเคลียร์ได้ทุกคอร์ส ทุกวิชา ทุกเวลา”
สิ่งที่โดดเด่นเรามองว่า คือ การนำเทคโนโลยีมาซัพพอร์ตคุณครู โดยไม่เน้นทำคอนเทนต์เพียงแค่ให้เด็กเรียนออนไลน์อย่างเดียว แต่เราจะพยายามดูว่าทั้งกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและกระบวนการสอนของครูมีส่วนไหนที่เชื่อมโยงกัน จากนั้นเราจะเชื่อมทั้งครูและเด็กให้เข้ามีปฏิสัมพันธ์กันให้มากที่สุด เพราะว่าช่วงโควิดมันมีความท้าทายที่ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ เด็กก็มีความเครียด การไม่เจอเพื่อน การไม่ประติดประต่อขององค์ความรู้หรือบทเรียนที่ครูสอน ถือเป็นจุดอ่อนที่เราต้องการจะปิดมัน
โควิดดันเอ็ดเทคตื่นตัว
ปัจจุบันที่ได้มีการปรึกษากับทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเพื่อนำแพลตฟอร์มไปใช้งานจริงในโรงเรียนที่กระจายอยู่ทุกสังกัด ไม่ว่าจะเป็นสังกัดกรุงเทพมหานคร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หรือ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเบื้องต้นได้รับการตอบรับจากโรงเรียนใน 6 แห่ง อาทิ โรงเรียนอบจ.เชียงราย และเมื่อโควิดเริ่มรุนแรงขึ้นการขยายระยะเวลาเปิดเทอมเริ่มมีผลกระทบมากขึ้นเราจึงทำความร่วมมือกับกลุ่มร้อยพลังการศึกษาและเครือโรงเรียนสังกัดอปท.ทั่วประเทศ อบต./เทศบาล/อบจ. กว่า 700 โรงเรียน โดยมีการเปิดให้ใช้โซลูชั่นบทเรียนออนไลน์ หรือหน่วยการเรียนของเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นผ่านระบบ Learn Anywhere โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นระยะเวลา 1 เทอม ซึ่งคาดว่าจะมีเด็กเข้ามาใช้โซลูชั่นในช่วงโควิด-19 นี้รวมกว่า 1 แสนราย
ทั้งนี้ธานินทร์ ได้สะท้อนมุมมองของเอ็ดเทคที่ได้รับอิมแพคจากโควิดอย่างเห็นได้ชัดว่า “เอ็ดเทคเริ่มที่จะตื่นตัวเมื่อโควิดเกิดขึ้นเนื่องจากสถานศึกษาไม่สามารถเปิดทำการได้ จึงเหลือทางเลือกไม่มากอาทิ ออนไลน์เลิร์นนิ่ง รีโมทเลิร์นนิ่ง หลายๆรายที่อยู่ในแวดวงการศึกษาจึงเล็งเห็นว่ามีดีมานด์หรือนีดมหาศาลอยู่ในระบบ ส่งผลให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ก้าวเข้าสู่วงการนี้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยกันพัฒนาการเรียนการสอนของประเทศผ่านเทคโนโลยี ส่วนการเติบโตเมื่อช่วงนี้เป็นภาวะไม่ปกติการเติบโตจึงถือเป็นระยะสั้นแม้จะมีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวแต่ก็ไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่านี่จะเป็นการเติบโตแบบยั่งยืน ซึ่งต้องย้อนกลับมามองที่เลิร์นนิ่งเอาท์คัมว่าแต่ละโซลูชั่นที่พยายามจะเสนอเข้ามาเพื่อเป็นทางเลือกให้กับ นักเรียน โรงเรียน ครู หรือผู้ปกครอง สามารถตอบโจทย์ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าผู้เล่นส่วนใหญ่สามารถตอบโจทย์ได้ตรงตามที่ผู้ใช้ต้องการได้นั่นแสดงว่าการเติบโตระยะยาวจะเกิดขึ้นกับเซกเตอร์เอ็ดเทคมากขึ้นอย่างแน่นอน”