‘เอสซีจี’ แชร์ทางรอดดัน ‘แพคเกจจิ้ง’ โตสวนวิกฤติ
"เอสซีจีแพคเกจจิ้ง"รับอานิสงส์มาตรการหยุดอยู่บ้านต้านโควิด ยอดขายไตรมาส1 เพิ่ม15% จากความต้องการบรรจุภัณฑ์ส่งอาหาร-ขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์พุ่ง ชี้แนวทางองค์กรใหญ่บริการธุรกิจช่วงวิกฤติ เปลี่ยนเกมบริหารเงินทุน ลดสต็อกสินค้า ตั้งวอร์รูมประเมินสถานการณ์
การผลิตต้องไม่สะดุด
กุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน (CFO) บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวในการสัมมนาออนไลน์ “องค์กรใหญ่บริหารจัดการธุรกิจอย่างไร ท่ามกลาง COVID-19” จัดโดย Techsauce ผู้ผลิตคอนเทนต์เพื่อวงการ Tech ในโลกธุรกิจ ว่า บริษัทพยายามรันการผลิตโดยบริหารจัดการโรงงานในไทย เวียดนามและอินโดนีเซีย เพื่อรองรับความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่องและปลอดภัย โดยมีมาตรการป้องกันบุคลากรอย่างรัดกุมเข้มงวด แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1.ด้านบุคลากร 95% ให้ทำงานที่บ้าน เหลือ 5% ทำงานที่บริษัทเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อได้ พร้อมใช้โอกาสนี้จัดการอบรมพัฒนาทักษะบุคลากร
2.ด้านธุรกิจ เปลี่ยนแนวทางการติดต่อซัพพลายเออร์และลูกค้าโดยใช้การประชุมออนไลน์ 3.ด้านสังคม ได้บริจาคภาชนะบรรจุอาหารและถุงกระดาษ ทั้งนี้ ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการร้านอาหารสนับสนุนอาหารในโครงการ “รวมพลังใจ สู้ภัยโควิด” แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน อีกทั้งมอบหน้ากากเฟซชิลด์แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และชุมชนรอบโรงงาน
“การเดินหน้าต่อไปท่ามกลางความไม่แน่นอน อาจจะลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ลดสินค้าในคลังและชะลอการลงทุนที่ไม่เร่งรีบ ทั้งเตรียมวงเงินหรือกระแสเงินสดหมุนเวียน เพื่อให้มั่นใจว่ามีเงินสดเพียงพอ อีกทั้งหันมาศึกษาพัฒนาระบบของโรงงาน ขณะเดียวกันจะต้องวางแผนงานและจัดทำแผนทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress Testing) ให้สามารถรับวิกฤติและความท้าทายในรูปแบบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต”
หากสถานการณ์ดีขึ้นอาจจะมองการรีเทิร์น โดยใช้วิธีเพิ่ม productivity จากการเวิร์คฟรอมโฮมอย่างต่อเนื่อง โดยอาจจะแบ่งทีมพนักงาน A และ B สลับมาทำงาน ซึ่งถือเป็นนิวนอร์มอล หรือ การสร้างภาพลักษณ์อีกครั้ง (Reimagination) ที่จะต้องจินตนาการภาพใหม่ว่า โลกหลังโควิดจะเป็นอย่างไรและเริ่มคิดกระบวนการทำงานในองค์กรใหม่ทั้งหมด
“เราผ่านวิกฤติมาหลายครั้งตั้งแต่ต้มยำกุ้ง เพียงแต่รอบนี้มันท้าทายกว่ามาก เพราะเป็นสมรภูมิที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ดังนั้น ระยะเวลาการฟื้นตัวแต่ละธุรกิจไม่เท่ากัน ผู้ประกอบการจึงต้องเตรียมพร้อมรับกับลักษณะการฟื้นตัวและกำหนดกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับธุรกิจ เช่น ถ้าธุรกิจฟื้นตัวแบบ V-Shape ภายในระยะเวลา 3 เดือน อาจจะพิจารณาให้ฝ่ายการตลาดเริ่มพูดคุยกับลูกค้าถึงสินค้าที่จะขายและเริ่มมองหาตลาดใหม่เพิ่มเติม เพราะสุดท้ายแล้วพฤติกรรมผู้บริโภคยุคหลังโควิด-19 จะไม่มีวันกลับมาเป็นเหมือนเช่นเคย ทั้งยังมีการแบ่งกลุ่มชัดเจน ดังนั้น ต้องเร่งปรับให้ทันต่อโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น”
แพ็คเกจจิ้งโตสวนทาง
สำหรับภาพรวมของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในช่วงโควิดนี้ ถือเป็นกลุ่มเดียวที่มีผลประกอบการสวนทางกลุ่มธุรกิจอื่น แต่ก็มีบางเซกเมนต์ที่ได้รับผลกระทบเพราะสินค้ามีความหลากหลายทั้งสำหรับอาหารและการขนส่ง ขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการได้รับผลกระทบสูงสุด แต่กลุ่มนี้ใช้บรรจุภัณฑ์ไม่มาก
กลุ่มที่ถูกกระทบรองลงมาคือ กลุ่มสินค้าคงทน อาทิ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ใช้บรรจุภัณฑ์สินค้าและบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง อาจมีบ้างที่ถดถอยเนื่องจากผู้บริโภคตระหนักถึงการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น ส่วนด้านที่ได้รับอานิสงส์นั้นคงหนีไม่พ้นสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคจากพฤติกรรมการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ การซื้อสินค้าออนไลน์ หรือซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้านเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดขายประเภทกล่องใส่อาหารเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
อีกทั้งกลุ่มสินค้าประเภทอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือและสินค้าส่งออกประเภทอาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง ที่ดันยอดแพคเกจจิ้งเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ผลประกอบการไตรมาส 1 ที่ผ่านมา มีรายได้จากการขาย 24,267 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (รวมผลประกอบการ Fajar และ Visy ประเทศไทยที่มีการเข้าถือหุ้นไปก่อนหน้านี้)
กุลเชฏฐ์ กล่าวย้ำว่า ไตรมาส 2 เป็นช่วงท้าทายที่สุดเพราะมีการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด จึงยากที่จะคาดเดาตัวเลขทางเศรษฐกิจ และหลังจากนี้ไม่แน่ชัดว่าสถานการณ์โควิด-19 จะกินเวลานานแค่ไหน แต่คงต้องใช้เวลาฟื้นตัวอย่างน้อยครึ่งปี ดังนั้น เวลานี้ควรให้ความสำคัญกับ “การบริหารจัดการภายใน” หรือ “ภาคการผลิต”
สามารถรับชมคลิปสัมมนาออนไลน์ย้อนหลังได้ที่ : https://www.facebook.com/techsauceTH/videos/866379243879403/