นวัตกรรม
ไทยลุย! เดินหน้าทดสอบ "วัคซีนโควิด-19" เข็มแรกในลิง
“สุวิทย์” ลงพื้นที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้าทดสอบวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกในลิง โดยใช้สารพันธุกรรมของเชื้อ “ชนิด mRNA” เผยรอฉีดเข็มที่ 2 อีก 4 สัปดาห์ ก่อนทดสอบใน “คน” ส.ค.นี้ ชี้กระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายใน 6-12 เดือน
วันนี้ (23 พ.ค.253) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมผู้บริหาร อว.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามความคืบหน้าในการเตรียมการทดสอบวัคซีนโควิด-19 “ชนิด mRNA” ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) และ กระทรวงสาธารณสุข หลังวิจัยและพัฒนาขึ้นพร้อมกับผ่านการทดสอบในหนูทดลองจนประสบความสำเร็จในระดับดี จึงก้าวสู่ลำดับต่อไปคือการทดสอบในลิง
ดร.สุวิทย์ กล่าวหลังตรวจเยี่ยมศูนย์วิจัยฯ และประชุมการดำเนินงานด้านวัคซีน ว่า การทดสอบในลิงจะฉีด 3 ครั้ง สำหรับวัคซีนที่ทดลองในลิง ใช้เทคโนโลยีใหม่ของการวิจัยวัคซีน คือ ใช้สารพันธุกรรมของเชื้อชนิด mRNA โดยครั้งที่ 1 ฉีดวันที่ 23 พ.ค.63 เวลา 7.39 น. ส่วนครั้งที่ 2 นับไปอีก 4 สัปดาห์ ครั้ง 3 นับไปอีก 8 สัปดาห์ โดยหลังการทดสอบในเข็มที่ 2 คาดว่าจะทำให้เห็นผลการสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีต่อโรคโควิด-19 โดยขั้นตอนการทดสอบในลิงถือเป็นสัตว์ที่ตอบสนองกับวัคซีนได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด ทั้งนี้จะต้องดูเรื่องความปลอดภัย ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนเมื่อได้รับวัคซีน และการตอบสนอง คือ สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้จริง ก่อนที่จะทดสอบในมนุษย์ ซึ่งคาดว่าอีก 3-6 เดือนจะสามารถเริ่มทดสอบได้ผ่านทางอาสาสมัคร ในปัจจุบันมีวัคซีนต้นแบบที่เข้าทดสอบในสัตว์ทดลองมากกว่า 150 ชนิด และอย่างน้อยมี 10 ชนิดที่เริ่มทำการทดสอบในอาสาสมัครแล้วประมาณ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และแคนาดา
ทั้งนี้ กระบวนการทดสอบในมนุษย์มี 3 ระยะ โดยพิจารณาใน 4 ประเด็นได้แก่ ความเป็นพิษ ความปลอดภัยต่อร่างกาย การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และประสิทธิผลของวัคซีน ซึ่งหากข้อมูลการทดสอบในลิงเป็นที่น่าพอใจ คาดว่าจะเริ่มผลิตวัคซีนเพื่อทดสอบในคน ได้ในประมาณเดือน ส.ค.ปีนี้ สำหรับ เฟสที่ 1 ทดสอบในคนจะเริ่มจากหลักสิบ เพื่อดูว่าวัคซีนมีความปลอดภัยหรือไม่ จากนั้น เฟสที่ 2 เพิ่มเป็นหลักร้อยคน เพื่อดูว่าสร้างภูมิคุ้มกันได้จริงหรือไม่ และเฟสที่ 3 จะทดสอบในหลักหลายพันคน เพื่อดูว่าใช้ได้กับประชากรจำนวนมากผลจะเป็นเช่นไร
โดย วัคซีนชนิด "mRNA" ที่ประเทศไทยใช้ เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด มีข้อดีคือสามารถพัฒนาได้เร็ว และใช้ได้ผลโดยการใช้ปริมาณวัคซีนที่ไม่มากนัก ขณะเดียวกันได้มีการเจรจาและสั่งจองการผลิตวัคซีนกับโรงงานผลิต ซึ่งยุทธศาสตร์วัคซีนโรคโควิดนี้ไม่เพียงแก้ปัญหาสำหรับประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นการแก้ปัญหาโรคระบาดในระดับมนุษยชาติ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายการพัฒนาวัคซีนของไทยคือให้คนไทยมีวัคซีนใช้ในเวลาที่ใกล้เคียงกับประเทศชั้นนำทั่วโลก
ขณะเดียวกันการทดลองวัคซีนส่วนใหญ่ทั่วโลกอยู่ในขั้นตอนที่ไล่เลี่ยกันกับประเทศไทย คือ การทดสอบในสัตว์ทดลอง มีเพียง 6-7 แบบที่ทดลองในคนในระยะที่ 1-2 แล้ว เช่น ประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้สิ่งที่เราดำเนินการยังใช้หลายวิธีการพร้อมๆกันผ่านยุทธศาสตร์ 3 แนวทางคู่ขนานคือ 1.การวิจัยและทดลองในประเทศไทย ให้สามารถสร้างวัคซีนใช้เองได้ลดการพึ่งพาต่างชาติ 2.การสร้างความร่วมมือกับนานาชาติ 3.การเตรียมความพร้อมในการผลิตวัคซีนที่ผ่านการทดลองและพิสูจน์ว่าใช้ได้ผล เพื่อให้คนไทยได้ใช้อย่างทั่วถึงในเวลาเดียวกันกับประเทศชั้นนำอื่นๆ คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะพร้อมภายในระยะเวลา 6-12 เดือน
“ที่สำคัญขณะนี้ ศูนย์ไพรเมทฯ วางแผนในระยะยาวคือการสร้างอาคารวิจัยวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อทางอากาศ ซึ่งจะทำให้การวิจัยพัฒนาและการทดสอบวัคซีนมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น ครอบคลุมโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ เหมือนอย่างในกรณีโรคโควิด-19” สุวิทย์ กล่าว