‘เทลสกอร์’ ดันมัลติสกิลทางรอด ‘อินฟลูเอนเซอร์’
“เทลสกอร์” เทคสตาร์ทอัพยกระดับแพลตฟอร์มนำ ‘เอไอ-แมชชีนเลินนิ่ง’ คาดเดาความต้องการตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ ประกาศรุกหน้าอัดแคมเปญหนุนแบรนด์กู้ยอดขายช่วงวิกฤติโควิด-19 ชี้พิษไวรัสกระทบทุกภาคธุรกิจส่งผลเศรษฐกิจซึม แต่ “อินฟลูเอนเซอร์" ยังไปต่อได้
“จากการที่อยู่ในวงการดิจิทัลเอเจนซี่มานานหลายสิบปี พบว่า “อินฟลูเอนเซอร์” หรือ “ผู้นำทางความคิด” กลายเป็นกลุ่มคนที่ช่วยเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด เพราะผู้บริโภคกว่า 60% สนใจที่จะติดตามและเชื่อในสิ่งที่อินฟลูเอนเซอร์นำเสนอ”
สุวิตา จรัญวงศ์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เทลสกอร์ จำกัด กล่าวระหว่างงานสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “ความปกติใหม่ของ Influencer ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง” จัดโดย Techsauce ทั้งนี้ “เทลสกอร์” (Tellscore) ให้บริการแพลตฟอร์มอินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้ง (Influencer Marketing) มีอินฟลูเอนเซอร์ในทีมราว 5 หมื่นคน และมีผู้ติดตามเว็บไซต์ www.tellscore.com มากกว่า 3 หมื่นคนต่อเดือน
ติดอาวุธแบรนด์ให้ปัง
ภาพรวมตลาดอินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้ง ทั่วโลกมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 4.5 แสนล้านบาท สำหรับไทยยังไม่มีการสำรวจข้อมูลโดยละเอียด แต่คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ที่มีมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา และปีนี้จะยังคงเติบโตมากขึ้น
ในช่วงไวรัสรุนแรง ผู้ประกอบการหลายรายเลื่อนเปิดตัวสินค้าใหม่และยกเลิกงานอีเว้นต์ต่างๆ ส่งผลให้ นักรีวิว/บล็อกเกอร์ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากการถูกยกเลิกการจ้างงาน โดยเฉพาะสายท่องเที่ยว โรงแรม ที่มีสัดส่วนกว่า 40% ทำให้ต้องเปลี่ยนสายงานชั่วคราว ส่วนกลุ่มที่กระทบน้อยคืออิเล็กทรอนิกส์ จากควันหลงเรื่องพีเอ็ม 2.5 ได้เอื้อให้เกิดกำลังซื้อสินค้าเครื่องกรองอากาศ ตามมาด้วยกลุ่มอาหารและโภชนาการ สุขภาพจิต ดีไอวาย
“ถือได้ว่าอาชีพอินฟลูเอนเซอร์ยังไม่ถึงกับช่วงขาลง เพราะยังคงมีธุรกิจที่สบช่องจากวิกฤติ อาทิ อีเลิร์นนิ่ง อีคอมเมิร์ซ เดลิเวอรี ประกัน มีการใช้งานเพื่อสื่อสารกับผู้บริโภค จึงได้เห็นแบรนด์เหล่านี้หันมาใช้สื่อออนไลน์และอินฟลูเอนเซอร์ขับเคลื่อนธุรกิจมากขึ้น” สุวิตา กล่าว
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภค 6 เดือนนับจากนี้จะเปลี่ยนสู่นิวนอร์มอล หรือพฤติกรรมปกติรูปแบบใหม่ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของทุกคน ฉะนั้น อินฟลูเอนเซอร์จึงต้องปรับตัวโดยเพิ่มทักษะความถนัดให้ได้หลายเรื่อง อาทิ จากที่เคยรีวิวเฉพาะสินค้า/บริการด้านสุขภาพ อาจจะเพิ่มการรีวิวด้านท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ เป็นต้น เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในปัจจุบัน พร้อมศึกษาภาษานิวนอร์มอล หรืออาจจะเน้นคอนเทนต์ที่เกี่ยวโยงกับโควิด หรือใช้เวลาในช่วงนี้ทบทวนเนื้อหาที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาทักษะการรีวิว เพราะหากไม่สามารถปรับตัว โอกาสที่จะอยู่รอดก็น้อยลงด้วยเช่นกัน
“ช่องทางดาวรุ่งในการแชร์ของอินฟลูเอนเซอร์ คือ อินสตาแกรม ยูทูบ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์และติ๊กตอก จากกระแสจะเห็นได้ว่า ติ๊กตอก กำลังมาแรงด้วยแรงขับเคลื่อนช่วงแรกขององค์การอนามัยโลก ที่ขอแรงส่งแคมเปญพิเศษเพื่อสื่อสารในเรื่องโควิด ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และสร้างกระแสใหม่ในแวดวงโซเชียลมีเดียทั่วโลก”
พลิกโมเดลรับนิวนอร์มอล
สุวิตา กล่าวอีกว่า ความปกติใหม่ของ Influencer Economy ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น คือ 1.การสื่อสารรูปแบบใหม่ของอินฟลูเอนเซอร์จะเป็น 80/20 โดย 80% นำเสนอเนื้อหาเชิงพาณิชย์ ส่วน 20% นำเสนอเนื้อหาที่แสดงถึงการเอาใจใส่ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 2.อินฟลูเอนเซอร์จิตอาสา ที่ผ่านมาจะเห็นการร่วมส่งต่อเนื้อหาเกี่ยวกับโควิดกว่า 2,200 คน รวมกว่า 5,500 ชิ้น รวมผู้ติดตามกว่า 30 ล้านคน อาทิ การรับสมัครแพทย์-พยาบาลอาสา, ข้อมูลโต้แย้งเฟคนิวและรายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3.การสร้างพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ ที่ไม่คาดคิด 4.การเปลี่ยนแปลงจาก Influencer Marketing สู่ Influencer Economy หรือระบบเศรษฐกิจอินฟลูเอนเซอร์ที่มีขนาดใหญ่ เหมือนสื่อประเภทหนึ่งบนโลกออนไลน์ สร้างคอนเทนต์ขายสินค้าโดยไม่แฝงการรีวิวอีกต่อไป 5.โอกาสเกิดอินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่ แบบ Sub-Culture เพิ่มขึ้น
“กลยุทธ์อินฟลูเอนเซอร์ไม่ได้ทำให้เกิด Awareness และ Conversion อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสร้างผลกระทบได้อีกหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องการช่วยเหลือสังคม และสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก” สุวิตา กล่าว
นอกจากนี้ 7 ธุรกิจมาแรงรับนิวนอร์มอลและมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ได้แก่ 1.บริการเดลิเวอรี่ 2.ชอปปิงออนไลน์ 3.ธุรกิจดูแลสุขภาพ 4.ธุรกิจอีเลินนิ่ง 5.OTT หรือ ดิจิทัลคอนเทนต์สตรีมมิ่ง 6.ธุรกิจประกัน 7.ดิจิทัลมีเดียและอินฟลูเอนเซอร์ ทั้งหมดนี้แบรนด์สามารถทำแคมเปญอินฟลูเอนเซอร์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เป็นแมคโครอินฟลูเอนเซอร์ (Macro-Influencer) อย่างเดียว
เพราะในแคมเปญควรมีอินฟลูเอนเซอร์ทุกระดับเพื่อการสื่อสารที่ครบวงจร เช่น ช่วงเริ่มแคมเปญที่ต้องการสร้างความตระหนัก ควรใช้นักรีวิวที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก จากนั้นต่อยอดด้วยการใช้นักรีวิวระดับไมโคร หรือมีผู้ติดตาม 50-100 คน ใช้ความเป็นกันเองและน่าเชื่อถือ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและการสื่อสารบนโลกออนไลน์
สมาชิกอินฟลูเอนเซอร์ราว 5 หมื่นคน
ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตินี้ เทลสกอร์ได้ออกฟีเจอร์ใหม่ “แคมเปญประกาศ” ให้ผู้ประกอบการสามารถตั้งค่ารีวิวได้เอง อีกทั้งจะเพิ่มบริการรีวิวราคาย่อมเยา ส่วนการรีวิวราคาปกติยังมีอยู่เป็นหลัก เพราะอินฟลูเอนเซอร์เองก็ต้องการรายได้เช่นกัน แผนต่อไปจะร่วมงานกับ LINE ในการเชื่อมต่อระบบและเสริมฟังก์ชั่นให้คนขายของได้อย่างเป็นธรรมชาติ รวมทั้งเพิ่มฟีเจอร์อินฟลูเอนเซอร์คอมเมิร์ซ ที่จะเชื่อมต่อซัพพลายเชนที่เป็นขนส่งแบบครบวงจร
ส่วนทิศทางการดำเนินงานในปี 2563 จากปัจจุบันที่ใช้ 3 ช่องทางหลักคือ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรมและทวิตเตอร์ ปีนี้บริษัทมีแผนจะขยายไปยังยูทูบและเว็บไซต์ทั่วไปในครึ่งปีหลังจะมีไม่ต่ำกว่า 3-4 ฟีเจอร์ ตั้งเป้ารายได้เพิ่มไม่ต่ำกว่า 10% ปัจจุบันเทลสกอร์มีอินฟลูเอนเซอร์บนแพลตฟอร์มราว 5 หมื่นคน และมีอินฟลูเอนเซอร์อาสาเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 คน
เทลล์สกอร์ยังได้ลงทุนใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และแมชชีนเลิร์นนิ่ง (AI/ML) เป็นเครื่องมือช่วยแนะนำอินฟลูเอนเซอร์ที่มีความถนัดแต่ละด้านให้ตรงตามความต้องการของนักการตลาด เช่น สุขภาพ ท่องเที่ยว เทคโนโลยีและแก็ดเจ็ต ฯลฯ และการคาดการณ์ผลลัพธ์แคมเปญล่วงหน้า เพื่อถ่ายทอดความตั้งใจของนักการตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง