ธุรกิจอาหาร ปักธง ‘เอกลักษณ์ท้องถิ่น’ หนทางรอดยุคนิวนอร์มอล
ซีอีโอด้านการบริการและค้าปลีกอาหาร ร่วมแชร์เทคนิคพลิกวิกฤติโควิด-19 อัพเดตเทรนด์เทคโนโลยีอาหารทรานส์ฟอร์มการผลิตสู่เส้นทางนิวนอร์มอล ล้วนเห็นพ้องการขับเคลื่อนธุรกิจอิงเศรษฐกิจฐานราก ชู 'เอกลักษณ์ชุมชน-พืชเฉพาะถิ่น' ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม
เปิดคัมภีร์สู่ครัวโลก
ในการสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “ระดมโอกาสพลิกวิกฤติโควิด-19 ผ่านวิสัยทัศน์ผู้นำเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหาร #4” ในโครงการ AFB Virtual Talk จัดโดย Asia Food Beverage ร่วมกับ Tastebud Lab นำเสนอมุมมองทางธุรกิจอาหารในยุคนิวนอร์มอล ทั้งกลยุทธ์การฝ่าวิกฤติระยะสั้นจนถึงเป้าหมายระยะยาว ให้อุตสาหกรรมอาหารไทยเข้มแข็ง เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก
อภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วีฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าวโพดและข้าวโพดพร้อมทานแบรนด์วีคอร์นและวีฟาร์ม ก่อตั้งมานานกว่า 6 ปี กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนด้านอุปนิสัยและพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคที่กำลังปรับตัวเข้าสู่ “นิวนอร์มอล” จึงต้องดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหาร หรือซัพพลายเชนธุรกิจอาหารในลักษณะใด
ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจุดแข็งและความมั่นคงทางด้านอาหารสูง ตอกย้ำภาพการเป็นผู้นำในตลาดอาหzารโลกได้เป็นอย่างดี แต่เกษตรกรไทยมักจะเลือกปลูกพืชตามความสะดวก ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการผลผลิตและดีมานด์ซัพพลาย อีกทั้งระบบตลาดได้เน้นการส่งออกมากกว่าคุณค่า ดังนั้น การปรับตัวเข้าสู่นิวนอร์มอล จึงต้องเร่งพัฒนาทั้งห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
“ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารและเกษตร แต่ในเรื่องของการต่อยอดสร้างห่วงโซ่คุณค่าและนวัตกรรมเพื่อที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้านั้นมีน้อย ไม่มีการวิจัยพัฒนามากเท่าที่ควร เราจึงศึกษาเทรนด์และโมเดลธุรกิจจากประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง ญี่ปุ่น พบว่าเกษตรกรค่อนข้างมีคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งประสบความสำเร็จด้านการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ การดูแลปัจจัยการผลิต และพัฒนาต่อยอดด้านนวัตกรรม ทั้งยังดูปลายทางว่าผู้บริโภคต้องการอะไร โดยเน้นในเรื่องของการเพิ่มผลผลิตทางด้านการเกษตร และหาความเป็นเอกลักษณ์ของพืชเกษตรนั้นๆ ให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยสามารถบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำให้สร้างมูลค่าเพิ่มได้ ทำให้ญี่ปุ่นผลิตและจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรได้ราคาในระดับสูง”
อภิรักษ์ กล่าวเสริมว่า ผู้บริโภคยุคนิวนอร์มอลจะใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ต้องการอาหารที่สะอาดปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการในรูปแบบ Healthy lifestyle จึงเป็นสิ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแวลูเชนของอุตสาหกรรมอาหาร พร้อมทั้งจะต้องดึงความเป็นเอกลักษณ์ของผลิตผลทางด้านการเกษตรในแต่ละพื้นที่ จังหวัด ชุมชน และสามารถเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อสร้างคุณค่าให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคในแต่ละเซกเมนต์ อีกทั้งในยุคนี้ผู้บริโภคให้ความสนใจในเรื่องระบบการตรวจสอบย้อนกลับจึงต้องมีฟังก์ชั่นต่างๆ ออกมารองรับ
วีฟู้ดส์เป็นอีกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดย เม.ย.ที่ผ่านมายอดขายลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 20% และลดลงจากยอดที่ตั้งไว้ประมาณ 30% ถือได้ว่าธุรกิจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จึงต้องพิจารณาโครงสร้างองค์กรและปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคหลังยุคโควิด โดยแบ่งช่องทางจำหน่ายเป็น 3 ส่วน คือ 1.ร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่น อีเลฟเว่น 2.โมเดิร์นเทรด และร้านสมัยใหม่ประเภทร้านอาหารเพื่อสุขภาพ 3.ออนไลน์และเดลิเวอรี่ที่เพิ่งเปิดตัว อีกทั้งการอัพเกรดดิจิทัลทรานฟอร์มเมชั่นให้กับบุคลากรภายในองค์กร พร้อมนำเทคโนโลยีมาวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค
สร้างอัตลักษณ์สินค้าเกษตร
ด้าน ขุนกลาง ขุขันธิน ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Trust me I’m CHEF ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปไม่ใส่สารเคมี และ Gyudon House กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) จะต้องเริ่มจากการบริโภคในท้องถิ่น โดยกระตุ้นให้เกิดการสร้างค่านิยมเห็นคุณค่าของสินค้าและบริการไทย เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในประเทศ ต่อท่อน้ำเลี้ยงให้เศรษฐกิจฐานราก สร้างความเข้มแข็งของประเทศจากภายใน
ทิศทางความเป็น Localization หรือ กลยุทธ์การตลาดที่ประยุกต์หรือพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดรับกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อเข้าถึงตลาดให้ได้มากที่สุด ถือเป็นกลยุทธ์พิชิตใจคนที่หลายบริษัทชั้นนำของโลกใช้เจาะตลาดใหม่ (New Frontiers) ได้สำเร็จ เริ่มจากการกระจายรายได้ยอมรับความหลากหลาย อัตลักษณ์ วัฒนธรรมท้องถิ่น หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น การปกครองท้องถิ่น หรือการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในการกำหนดทิศทางของตัวเอง และเมื่อโฟกัสไปที่อาหารแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน เชฟจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
“การที่จะสร้างหรือต่อยอดธุรกิจให้เข้มแข็งได้นั้น จะต้องมีโนว์ฮาวที่ไม่ใช่แค่ด้านอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจรากฐานของวัฒนธรรมและองค์ประกอบของแต่ละท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น รสชาติ กลิ่น สัมผัส ต้องทำความเข้าใจด้านสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะตามความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง อีกทั้งอาหารอร่อยเริ่มจากวัตถุดิบที่ออกตามฤดูกาล จึงต้องผลักดันและส่งเสริมการใช้วัตถุดิบตามฤดูกาลที่จะส่งผลดีต่อคุณภาพและสิ่งแวดล้อม จึงถือได้ว่าสิ่งเหล่านี้จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการได้เป็นอย่างดี”
แพลตฟอร์มออนไลน์ดันธุรกิจ
นฤทธิ์ อินทรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (ซีโอโอ) เฟรชเก็ต (Freshket) ตลาดออนไลน์สำหรับร้านอาหารและซัพพลายเออร์ของสดแห่งแรกในประเทศ กล่าวว่า การที่จะพลิกวิกฤติสู่โอกาสของอุตสาหกรรมอาหารไทยในยุคนิวนอร์มอล จะต้องดึงทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด และยิ่งหลังวิกฤติโควิดจะเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค จึงควรที่จะทำให้ทรัพยากรตอบโจทย์ได้ดีกว่าเดิม โดยการสร้างแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ที่ผู้บริโภคมองเห็นได้ง่าย แล้วดึงทั้งหมดเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มนั้น รวมทั้งการเร่งสร้างระบบขนส่งสินค้าอาหารและพืชผลทางการเกษตร เพื่อผลักดันธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้ได้รับความนิยมมากขึ้น
"ทั้งหมดนี้จะเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร สามารถนำไปปรับใช้ในการวางแผนประกอบธุรกิจหลังวิกฤติสงครามไวรัสสิ้นสุด เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาเข้มแข็งและเติบโตยิ่งกว่าเดิม"