‘เทดฟันด์-ออมสิน’ ปล่อยกู้สตาร์ทอัพสู้โควิด!
'เทดฟันด์-เอ็นไอเอ-ออมสิน' จัดสินเชื่อเสริมสภาพคล่องสู้ภัยโควิดแก่ 'สตาร์ทอัพ' ซึ่งอยู่ระหว่างรับทุน และไม่ได้รับทุน ปล่อยกู้สูงสุดรายละ 10-20 ล้านบาท บนพื้นฐานดอกเบี้ยเพียง 2%
สินเชื่อธุรกิจนวัตกรรม20ล้าน
“ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในโครงการสนับสนุนของเทดฟันด์ และ/หรือที่เคยผ่านการคัดกรองความเป็นนวัตกรรม ธนาคารออมสินจะพิจารณาสินเชื่อให้ “ทุกราย” ภายใต้วงเงินที่กำหนดไว้คือ สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อรายสำหรับสตาร์ทอัพ และไม่เกิน 20 ล้านบาทสำหรับเอสเอ็มอี อัตราดอกเบี้ย 2% ในช่วง 2 ปีแรก และตั้งแต่ปีที่ 3 ขึ้นไป อัตราดอกเบี้ยจะเป็น MOR ลอยตัว (MOR+2)”
นโยบายสินเชื่อเสริมสภาพคล่องสู้ภัยโควิดให้สตาร์ทอัพ ซึ่งอยู่ระหว่างรับทุนและไม่ได้รับทุน ที่ธนาคารออมสินดำเนินการร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) และเทดฟันด์
ออมสินให้กู้ 10-20 ลบ.ดอก2%
นิคม ปัญญาทวีกิจไพศาล ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) เปิดเผยว่า กองทุนฯให้การสนับสนุนทุนแก่กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพไปแล้วกว่า 200 โครงการ มูลค่ากว่า 325 ล้านบาท ซึ่งประสบความสำเร็จตามเป้าหมายและตัวชี้วัดมากกว่า 40 โครงการ แต่ที่เหลือกำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติโรคโควิด-19 จึงได้ร่วมมือกับธนาคารออมสินประกาศนโยบายสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการรับทุนของเทดฟันด์และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ)
ส่งเสริมสภาพคล่องทางการเงิน
โครงการสินเชื่อนี้ประกอบด้วย 2 โครงการเพื่อเสริมสภาพคล่องและบรรเทาสภาวะทางการเงิน ที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสในการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องได้แก่ 1.สินเชื่อเพื่อนวัตกรรมสำหรับเสริมสภาพคล่องและลงทุน ในวงเงินกู้สูงสุด 1.5 ล้านบาท และ 2.โครงการสินเชื่อเพื่อนวัตกรรมสำหรับเสริมสภาพคล่องและลงทุน วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาท
อนุรักษ์ เสงี่ยมจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ กลุ่มลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ กล่าวว่า ธนาคารได้รับมอบหมายให้สนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะทำให้เป็นฐานรากของเศรษฐกิจไทย จึงได้จัดตั้ง Venture Capital ขึ้นมาก่อนหน้านี้ จำนวน 4 กอง รวมมูลค่า 2,500 ล้านบาท รวมทั้ง Angle มูลค่า 500 ล้านบาท อีก 1 กอง เพื่อสนับสนุนธุรกิจในกลุ่มนี้ ภายใต้โครงการ GSB Start up Ecosystem และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
“ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนตั้งบริษัท ดำเนินธุรกิจแล้วและมีนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงแล้วไม่เกิน 3 ปี ไม่ว่าจะได้รับทุนจากเทดฟันด์หรือเอ็นไอเอ หรือไม่ก็ตาม ทุกรายสามารถเดินเข้ามาคุยกับเราได้ ส่วนที่มีผู้กังวลในเรื่องหนี้เสียนั้น เราได้มีการปรับเกณฑ์ของธนาคารให้อยู่ในลักษณะที่พอรับความเสี่ยงได้ ไว้เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) เข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อ รวมทั้งเทดฟันด์ช่วยสกรีนผู้ประกอบการให้เรา ความเสี่ยงจึงน่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำและยอมรับได้ ประเด็นหลักในขณะนี้คือ เราต้องให้ความช่วยเหลือทางด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ ก่อนที่จะคิดอย่างอื่น”
มอบทั้งทุน ความรู้และเน็ตเวิร์ก
“มายแบนด์” (My Band) แพลตฟอร์มเสาะหาและรับจองวงดนตรีพร้อมลิสต์เพลงถูกลิขสิทธิ์ทั้งไทยและสากลกว่า 10 ล้านเพลง เป็น 1 ในผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนจากเทดฟันด์สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ได้มากขึ้นและการตลาด ”กรรณ ศิธาพัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มายแบนด์คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจเกิดจากปัญหาในการจัดหาวงดนตรีเพื่อแสดงในงานต่างๆ และลิขสิทธิ์เพลงที่นักดนตรีเองก็กังวล จึงเกิดไอเดียที่จะแก้ปัญหา
เดือนแรกที่เปิดบริการไม่มีผู้ใช้บริการเลย กระทั่งห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งต้องการวงดนตรีในงานอีเวนท์โดยต้องมีหนังสือรับรองลิขสิทธิ์เพลง ซึ่งไม่มีใครตอบความต้องการนี้ได้ จึงนึกถึง “มายแบนด์” แล้วเกิดการบอกต่อแบบปากต่อปาก ทำให้ปี 2561 มีวงดนตรีในมือเพิ่มเป็น 400 วง 15 ค่ายเพลง รายได้มาจากค่าบริหารจัดการที่ลูกค้าจ่าย แบ่งเป็น ค่าตัวนักดนตรี 60-70% ค่าลิขสิทธิ์เพลง 5% และที่เหลือเป็นค่าบริหารจัดการของมายแบนด์ที่ช่วยบริหารจัดการวงดนตรีหน้างานเพื่อความสะดวก
“นอกจากการให้ทุนแล้ว เทดฟันด์ยังจัดฝึกอบรมให้ความรู้มากมาย โดยเฉพาะวิธีการเสนอโครงการหรือเจรจากับ VC การเขียนโครงการ รวมทั้งเทคนิคการเจรจา ตลอดจนการสร้างเครือข่ายหรือการติวเข้ม โดยผู้มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้ความช่วยเหลือแบบตัวต่อตัว หรือ Face to Face ดูแลให้คำปรึกษาเฉพาะราย” กรรณ กล่าว