แอพ DRY EYE ทางเลือกใหม่ ของการตรวจตาแห้งด้วยตนเอง
ชมรมกระจกตาฯ จัดทำแอพพลิเคชันตรวจตาแห้งด้วยตนเอง ที่ชื่อว่า DRY EYE ขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับประชาชน
ปัจจุบันมีผู้ป่วยด้วยโรคทางตาเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีจำนวนมากต่อวัน หนึ่งในอาการที่พบบ่อยคือ อาการตาแห้ง ซึ่งในบางกรณีอาการไม่รุนแรงและไม่จำเป็นต้องมาพบจักษุแพทย์ ดังนั้น ชมรมกระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตาแห่งประเทศไทย จึงได้จัดทำแอพพลิเคชันตรวจตาแห้งด้วยตนเองที่ชื่อว่า DRY EYE ขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับประชาชน
รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ หัวหน้าศูนย์เลเซอร์สายตา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยและประธานชมรมกระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการตาแห้งและมารับการตรวจที่ศูนย์เลเซอร์สายตา จุฬาฯ มักมีปัญหามาจากการสวมใส่คอนแทคเลนส์ หรือใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ระดับความรุนแรงของอาการตาแห้งแบ่งได้เป็นระยะเริ่มต้นถึงระยะรุนแรง กล่าวคือในอาการตาแห้งระยะเริ่มต้น อาจเกิดจากการกระพริบตาน้อยเกินไประหว่างการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์สื่อสารต่างๆ สามารถรักษาด้วยการหยอดน้ำตาเทียมและกระพริบตาให้ถี่ขึ้น การใช้แอปพลิเคชันตรวจอาการตาแห้งด้วยตนเองสามารถคัดกรองอาการและทราบพฤติกรรมการใช้สายตาของตนเองได้เบื้องต้น โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลามาพบจักษุแพทย์หรือเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโดยใช่เหตุ นอกจากนี้ หากทดสอบแล้วพบว่าอาการตาแห้งอยู่ในระยะรุนแรงก็สามารถเข้ามารับการรักษาได้อย่างถูกวิธีโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
การทำงานของแอพพลิเคชัน DRY EYE ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย เพียงเข้าสู่ระบบการทำงานของแอพพลิเคชัน และทำตามขั้นตอนเป็นข้อๆ ใช้เวลาไม่นานในการทดสอบ แอปพลิเคชันก็จะประมวลผลให้ทราบได้ทันทีว่าผู้ทดสอบมีอาการตาแห้งหรือไม่
ส่วนประกอบในน้ำตาของมนุษย์มี 3 ส่วน คือ ชั้นเมือก ชั้นน้ำ และชั้นน้ำมัน บ่อยครั้งจักษุแพทย์พบว่าผู้ป่วยที่มีอาการตาแห้งนิยมหยอดตาด้วยน้ำตาเทียม ทั้งที่จริงแล้วชั้นน้ำมันของน้ำตาในผู้ป่วยตาแห้งไม่ใช่เฉพาะชั้นน้ำของน้ำตา แต่รักษาไม่ถูกทางมาโดยตลอด หากทุกคนรู้และเข้าใจข้อมูลเบื้องต้นของอาการตาแห้งก็จะสามารถรักษาได้ถูกจุดมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
การดูแลรักษาดวงตาให้ห่างไกลจากอาการตาแห้ง เมื่อมีอาการตาแห้ง ผู้ป่วยมักระคายเคืองตา การแก้ไขเบื้องต้น ทำได้ด้วยการหยอดน้ำตาเทียม และนวดเปลือกตาบ่อยๆ แต่การดูแลตนเองเพื่อห่างไกลจากอาการตาแห้งต้องปรับที่พฤติกรรมการใช้ดวงตาในชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สวมคอนแทคเลนส์เป็นเวลานานๆ หรือควรสวมแว่นตากันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้งเพื่อถนอมดวงตา เป็นต้น
รศ.พญ.งามจิตต์ ให้ข้อมูลว่า ผู้ที่มีอาการตาแห้งอาจเป็นอาการข้างเคียงจากโรคร้ายแรง เช่น โรครูมาตอยด์ ขณะที่ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนหรือเมื่อมีอายุมากขึ้นจะมีโอกาสเป็นโรคตาแห้งมากกว่าผู้ชาย แต่ในปัจจุบันพบว่าสถิติของผู้ป่วยที่มีอาการตาแห้งมีอายุน้อยลง เนื่องจากเด็กและเยาวชนไทยนิยมสวมคอนแทคเลนส์ หรือใช้สายตาจ้องจอเครื่องมือสื่อสารมากเกินไปนั่นเอง ดังนั้นประชาชนต้องดูแลตนเองและปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา เช่น กระพริบตาถี่ขึ้น ลด หรืองดการสวมคอนแทคเลนส์ ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงอาการตาแห้งได้ เพราะการรักษาตาแห้งเป็นเพียงปลายเหตุเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาแอพพลิเคชัน DRY EYE ในอนาคต คณะทำงานที่พัฒนาแอพพลิเคชัน DRY EYE จะทำการเก็บข้อมูล ผู้ป่วยมาวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง เพื่อทราบข้อมูลจำนวนและสาเหตุของการเกิดอาการตาแห้งของคนไทยที่เข้าใช้งานแอปพลิเคชันนี้ เพื่อนำมาพัฒนาการรักษาอาการตาแห้งให้ได้ประสิทธิภาพต่อไป นอกจากนี้คณะทำงานยังมีแผนจะจัดงานวันตาแห้ง (Dry Eye Day) เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอาการตาแห้งให้แก่ประชาชนทั่วไปที่สนใจอีกด้วย