จับตา '7 อรหันต์ กสทช.' ชุดใหม่ ลุยงาน 'บิ๊กดาต้า-5จี-ดาวเทียม'
โดยหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการกสทช.ชุดใหม่ จะเข้ามาขับเคลื่อนและตัดสินใจนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ เช่น เทคโนโลยี 5จี การใช้วงโคจรดาวเทียม บิ๊ก ดาต้า เฮลธ์แคร์
หลังกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ “กสทช.” ชุดเดิมอยู่ในตำแหน่งมายาวนาน 9 ปี วานนี้ (16 มิ.ย.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติ 'ปลดล็อค' กระบวนการสรรหาเป็นที่เรียบร้อย หลังครม.ยืนคำสั่ง ยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้กรรมการชุดปัจจุบันรักษาการอยู่ เนื่องจากในท้ายของคำประกาศระบุว่าให้รักษาการไปจนกว่ากฎหมายฉบับใหม่จะแล้วเสร็จ หรือ ครม.มีมติเห็นชอบเป็นอย่างอื่น
โดยหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการกสทช.ชุดใหม่ จะเข้ามาขับเคลื่อนและตัดสินใจนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ เช่น เทคโนโลยี 5จี การใช้วงโคจรดาวเทียม บิ๊ก ดาต้า เฮลท์แคร์ ประมูลคลื่น 3400-3700 เมกะเฮิรตซ์ จึงให้สรรหากรรมการ กสทช.ชุดใหม่ไปก่อน
กลับไปใช้กฎหมายเดิมสรรหา
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้ใช้ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2560 ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการกสทช.ชุดใหม่ ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่มีความเห็นว่า ควรเริ่มให้มีกระบวนการสรรหากรรมการ กสทช.
ทั้งนี้ เพื่อให้ทันความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ขั้นตอนหลังจากนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังสำนักงาน กสทช. เพื่อรับทราบ จากนั้นสำนักงาน กสทช.จะเสนอเรื่องไปยังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อดำเนินขั้นตอนการสรรหากรรมการกสทช.ชุดใหม่
คาดก.ย.เดินหน้ากระบวนการ
นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ ตนได้รายงานครม.ด้วยว่าในการแก้ไข พ.ร.บ.กสทช.ที่กำลังดำเนินการอยู่ จะมีการเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลว่า เมื่อร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับแก้ไข จัดทำเสร็จและมีผลบังคับใช้แล้ว ให้กรรมการกสทช.ที่สรรหาพ้นจากตำแหน่ง แล้วให้มีกระบวนการสรรหาใหม่ โดยให้กรรมการกสทช.ชุดที่ได้รับการสรรหาโดยกฎหมายเดิม และพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากร่างแก้ไขฯ มีผลบังคับใช้ สามารถเข้าสู่กระบวนการสรรหาใหม่ได้ เบื้องต้นคาดว่าจะกระบวนการสรรหากรรมการชุดใหม่น่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนคือในเดือนก.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงาน การสรรหากรรมการกสทช.นั้นเดิมตามประกาศมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยมีคำสั่งให้ระงับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการกสทช.นั้น เป็นการระงับจนกว่าจะมีพ.ร.บ.กสทช. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่ง กรรมการกสทช.ก็จริง แต่มีการทิ้งท้ายข้อความในประโยคว่า หรือจนกว่า นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของครม.จะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ในประเด็นสำคัญคือ เพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการกสทช., แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามของกรรมการ กสทช. กรณีเคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด, ปรับปรุงอำนาจของคณะกรรมการสรรหาในการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของผู้มีสิทธิ์รับสมัครเข้ารับการสรรหา, ปรับปรุงลักษณะของผู้มีสิทธิ์สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกสทช., ปรับปรุงกระบวนการสรรหา คัดเลือก และแต่งตั้ง และเพิ่มการกำหนดให้กรรมการสรรหามีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร
ก่อนหน้านี้กฎหมายดังกล่าวได้รับการปรับปรุงแก้ไขเป็นฉบับที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2560 แต่พบว่าเกิดปัญหาในทางปฏิบัติทำให้การสรรหาและคัดเลือกบุคคลไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อีกทั้งมีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้ได้รับการคัดเลือก จึงต้องมีการแก้ไขข้อขัดข้องในการสรรหา และคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าว
ส่องคุณสมบัติ 7 อรหันต์กสทช.
พระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 6 ให้มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ “กสทช.” จํานวน 7 คน
แต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 7 และมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกิจการกระจายเสียง ด้านกิจการโทรทัศน์ ด้านกิจการโทรคมนาคม ด้านวิศวกรรม ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้านละคน คุณสมบัติ คือ มีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ํากว่า 40 ปี แต่ไม่เกิน 70 ปี
โดยผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการสรรหา เพื่อเป็นกรรมการต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ 1. เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการพลเรือน พนักงานในหน่วยงานอื่นของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ที่ดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่ารองหัวหน้าส่วนราชการ ตั้งแต่ระดับกรมขึ้นไป หรือรองหัวหน้าหน่วยงานอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลหรือรัฐวิสาหกิจ 2. เป็นหรือเคยเป็นนายทหารหรือนายตํารวจที่มียศตั้งแต่พันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอก หรือพันตํารวจเอก อัตราเงินเดือนพันเอกพิเศษ นาวาเอกพิเศษ นาวาอากาศเอกพิเศษ หรือพันตํารวจเอกพิเศษขึ้นไป 3. ดํารงตําแหน่งหรือเคยดํารงตําแหน่งรองศาสตราจารย์ขึ้นไป
4. เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารมาแล้วไม่น้อยกว่า 3ปี ในตําแหน่งไม่ต่ํากว่ารองกรรมการผู้จัดการในบริษัทมหาชนจํากัด ที่มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท 5. มีประสบการณ์การทํางานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของ ประชาชนอย่างสม่ําเสมอและต่อเนื่องมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี 6.มีประสบการณ์ด้านการบริหารกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมอย่างสม่ําเสมอและต่อเนื่องมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี
โดยมาตรา 15 ในการดําเนินการคัดเลือกกรรมการ ให้สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภาประกาศการเปิดรับสมัครบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 6 ให้ทราบเป็นการทั่วไปผ่านทางวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างน้อย 30 วันติดต่อกัน