‘โลเคิลอไลค์’ ปรับธุรกิจ เปิด ‘ครัวชุมชน’ ฝ่าวิกฤติ
"โลเคิล อไลค์" แพลตฟอร์มออนไลน์ที่โด่งดังไกลในเวทีโลก จากการนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชนทั้งในแบบ One-Day Trip และแพคเกจทัวร์แบบค้างคืน ปิ๊งไอเดียช่วยท่องเที่ยวชุมชน “อร่อย & Alot” ชวนชุมชนเปิดครัวเดลิเวอรี่อาหารพื้นถิ่น สร้างรายได้ท่ามกลางโควิด
“สตาร์ทอัพ ไทยแลนด์” หน่วยงานสนับสนุนและส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (สตาร์ทอัพ) และระบบนิเวศของวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Ecosystem) ตามนโยบายของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ นำเสนอตัวอย่างโมเดลธุรกิจใหม่ของสตาร์ทอัพสายท่องเที่ยว ที่ประสบความสำเร็จสามารถพลิกฟื้นกิจการและสร้างรายได้คืนสู่ชุมชนอีกครั้ง
ส่งตรงจากครัวชุมชน
สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Local Alike กิจการเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยวชุมชน เปิดเผยว่า ธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากไม่สามารถจัดทัวร์ได้ ทำให้ทั้ง Local Alike และเศรษฐกิจชุมชนได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้จากธุรกิจการท่องเที่ยว จึงปรับรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยร่วมกันคิดร่วมกันทำธุรกิจกับชุมชนจำหน่ายสินค้าชุมชนและบริการจัดส่งอาหารที่ผลิตโดยคนในชุมชน ภายใต้สโลแกน “อร่อย&Alot” ชวนชุมชนเปิดครัวเดลิเวอรี่อาหารพื้นถิ่น ผลิตสินค้างานฝีมือขายทางออนไลน์ จ้างงานคนตกงานบริการส่งถึงบ้าน พลิกวิกฤติเป็นโอกาส สร้างงานสร้างรายได้ท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด-19
“อร่อย&Alot” โมเดลธุรกิจใหม่แยกเป็น 2 ส่วนคือ “อร่อย” ทางบริษัทได้ปรับตัวทางธุรกิจด้วยการสนับสนุนให้ชุมชนทำอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น โดยใช้ผลิตภัณฑ์ภายในชุมชนที่มีความโดดเด่นด้านแหล่งวัตถุดิบ รสชาติและอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาเป็นจุดขาย เช่น น้ำพริกข่า ข้าวเหนียวมูนมะม่วง พร้อมบริการจัดส่งให้กับลูกค้าถึงบ้าน ทำให้อาหารของโลเคิล อไลค์ แตกต่างจากอาหารทั่วไปตรงที่ ลูกค้าได้ลิ้มรสอาหารพื้นถิ่นจากฝีมือคนท้องถิ่นแท้ๆ
ส่วน Alot เป็นการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ จึงสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เช่น หน้ากากผ้า น้ำผึ้งรวง ไข่เค็ม กุนเชียง รวมถึงรับทำ “ถุงยังชีพ” ที่มีความพิเศษตรงที่ไม่ได้ใช้สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป เช่น ข้าวสารอาหารแห้ง แต่สนับสนุนให้ชุมชนจัดถุงยังชีพที่เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น กุนเชียง ไข่เค็ม มังคุด มะม่วง น้ำพริกข่า ฯลฯ
พร้อมกับเปิดกว้างให้ประชาชนที่อยากบริจาคถุงยังชีพให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้ซื้อถุงยังชีพนำไปบริจาค และยังได้สนับสนุนคนในชุมชนที่ขาดรายได้จากการท่องเที่ยว สามารถมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าที่ผลิตขึ้นในชุมชน ถือเป็นการทำบุญถึงสองต่อ คือช่วยคนด้อยโอกาสทางสังคมและช่วยให้คนในชุมชนได้มีงานทำ
สำหรับบริการจัดส่งสินค้าและอาหารที่ผลิตโดยชุมชน ทางโลเคิล อไลค์ คำนึงถึงผลประโยชน์ทางสังคมเป็นที่ตั้ง คือต้องการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยในช่วงสถานการณ์ไวรัสให้มีรายได้เพิ่ม จึงจ้างวินมอเตอร์ไซค์หรือคนที่ไม่มีงานทำในชุมชนคลองเตย เป็นผู้ให้บริการจัดส่ง ทดแทนการใช้บริการแพลตฟอร์มบริษัทด้านการขนส่ง โดยมีเป้าหมายการทำงานมุ่งไปที่ผลกระทบทางสังคมมากกว่าความสะดวกสบายหรือกำไรทางธุรกิจ
บทเรียนจากเชื้อไวรัสระบาด
นอกเหนือจากการสร้างรายได้ให้กับชุมชน คนในชุมชนยังได้เรียนรู้การทำธุรกิจอีกด้วย โดยเฉพาะการวางแผนธุรกิจที่ไม่อาจวางแผนระยะยาวได้อีกต่อไป เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบตั้งตัวไม่ทัน การวางแผนธุรกิจต้องปรับเร็วให้ทันสถานการณ์ อย่างเช่น แผนธุรกิจ “อร่อย & Alot” ใช้เวลาวางแผนเพียงหนึ่งสัปดาห์
"สิ่งที่ชุมชนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในครั้งนี้ คือ การประกอบธุรกิจจะพึ่งพาธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งไม่ได้ จะต้องมีธุรกิจอื่นเข้ามาเสริมเพื่อป้องกันความเสี่ยง หากเกิดเหตุการณ์แบบโรคระบาด จึงสอนให้คนในชุมชนได้มีทักษะในการทำงานและทำธุรกิจให้เชี่ยวชาญมากขึ้น
ปัจจุบัน Local Alike ทำงานกับชุมชนทั่วประเทศ 150 แห่ง ใน 5 จังหวัดและเตรียมขยายเครือข่ายการท่องเที่ยว ธุรกิจอาหารและผลิตภัณฑ์ชุมชนออกไปอีก 50-100 ชุมชนภายในปีนี้