'กูเกิล' เปิดตัว 'พลัส โค้ด' เสริมแกร่งบริการแผนที่
“กูเกิล” ยกระดับบริการแผนที่ เปิดตัว “พลัส โค้ด” ช่วยผู้ใช้งานระบุพิกัดที่อยู่จากทุกสถานที่ทั่วโลกอย่างแม่นยำ ชี้เป็นประโยชน์กับผู้ใช้-ธุรกิจองค์กร ช่วยรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน-ภาวะวิกฤติ
โดยที่อยู่จะมีรูปแบบเป็นรหัสตัวอักษรและตัวเลขแบบเรียบง่าย สามารถใช้ร่วมกับชื่อเมือง จังหวัด หรือรหัสพื้นที่ได้ เมื่ออ่านแล้วจะดูเหมือนข้อความที่อยู่ปกติ แต่จะมีรหัสแทนชื่อหรือหมายเลขถนน มากกว่านั้นยังสามารถค้นหาตำแหน่งของสถานที่ผ่านพลัสโค้ดได้โดยการแตะที่แผนที่ค้างไว้เพื่อปักหมุดตำแหน่งที่ต้องการรหัสพลัสโค้ด โดยสามารถค้นหาได้ทั้งบนกูเกิลแมพและกูเกิลเสิร์ช
อย่างไรก็ดี ตัวระบุตำแหน่งดิจิทัลเหล่านี้เปิดให้ใช้งานได้ฟรี พร้อมการใช้งานแบบออฟไลน์ และสามารถพิมพ์ลงบนกระดาษ โปสเตอร์ และแผ่นป้ายได้ ขณะเดียวกันเทคโนโลยีในการสร้างรหัสพลัสโค้ดยังเป็นแบบโอเพ่นซอร์สทำให้ใช้งานง่ายและฟรี ดังนั้นทุกคนสามารถเข้าไปศึกษาได้ว่าเทคโนโลยีนี้มีการทำงานอย่างไรและนำไปต่อยอดในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นของตนเองเพื่อการใช้งานจริงตามที่ต้องการได้
นายมาร์ติน เผยว่า พลัสโค้ดจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับทั้งผู้ใช้งานทั่วไปและธุรกิจองค์กร ในกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินและภาวะวิกฤติ ซึ่งหากเคยอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินจะทราบดีว่าการแชร์ตำแหน่งเพื่อขอความช่วยเหลือนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
"ในหลายที่ทั่วโลกองค์กรธุรกิจยังต้องเผชิญกับความท้าทายนี้อยู่เป็นประจำทุกวัน แต่จากนี้ผู้ใช้ไม่เพียงจะสามารถแชร์ตำแหน่งได้อย่างรวดเร็วแม้ไม่มีที่อยู่ได้เท่านั้น แต่พวกเขายังสามารถแชร์ตำแหน่งได้โดยเพียงแค่เปิดกูเกิลแมพและแตะที่จุดสีน้ำเงินเพื่อดู คัดลอก และแชร์ตำแหน่งพลัสโค้ดของพวกเขา จากนั้นรหัสพลัสโค้ดจะถูกเพิ่มลงในกูเกิลแมพเพื่อช่วยค้นหาและนำทางไปยังตำแหน่งที่ต้องการ ตำแหน่งดิจิทัลที่กำหนดบนพลัสโค้ดทำให้สามารถระบุตำแหน่งของสถานที่ได้ง่ายขึ้น ช่วยประหยัดเวลา และทำให้ได้รับความช่วยเหลือในยามที่จำเป็น"
ปัจจุบัน พลัสโค้ดเปิดให้ใช้งานแล้วในแอพพลิเคชั่นกูเกิลแผนที่เวอร์ชั่นล่าสุดสำหรับระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์ ซึ่งผู้ใช้สามารถแชร์ตำแหน่งของตัวเองได้ง่ายขึ้นโดยใช้พลัสโค้ดในแอพแผนที่ที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือ ด้านการใช้งานก็ง่ายๆ เพียงแตะที่จุดสีน้ำเงินที่แสดงตำแหน่งของผู้ใช้ในขณะนั้นเพื่อรับรหัสพลัสโค้ดสำหรับตำแหน่งปัจจุบัน จากนั้นสามารถแชร์ให้กับผู้อื่นได้ง่ายๆ เหมือนการให้เบอร์โทรศัพท์ ส่วนระบบไอโอเอสจะสามารถใช้ได้ในเร็วๆ นี้