ไทยคม จับมือ กสทฯ ตั้งบริษัทร่วมทุน รุกธุรกิจดาวเทียม
ผุด 'เนชั่น สเปซ แอนด์ เทคโนโลยี' ร่วมพัฒนาและให้บริการดาวเทียมรูปแบบใหม่ ขยายธุรกิจ เสริมความแข็งแกร่งโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม พร้อมรองรับการเติบโตอุตสาหกรรมดิจิทัลและกิจการดาวเทียม
รายงานข่าว ระบุว่า บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้ผนึกกำลังร่วมกัน พัฒนาและให้บริการดาวเทียมรูปแบบใหม่ ขยายธุรกิจ เสริมความแข็งแกร่งโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม พร้อมรองรับการเติบโตอุตสาหกรรมดิจิทัลและกิจการดาวเทียม
โดย ไทยคม และ กสทฯ ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ ภายใต้ชื่อ บริษัท เนชั่น สเปซ แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียนจำนวน 10,000,000 บาท และมีสัดส่วนการถือหุ้นระหว่าง ไทยคม และ กสทฯ 75:25 เพื่อร่วมกันให้บริการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียม อาทิ ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ
นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไทยคม ผู้ให้บริการดาวเทียมไทย เปิดเผยว่า “การประกาศจัดตั้ง บริษัท เนชั่น สเปซ แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด ในครั้งนี้ ถือเป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือครั้งสำคัญของทั้ง 2 องค์กร ด้วยความรู้และประสบการณ์อันยาวนานในอุตสาหกรรมด้านดาวเทียมของไทยคม ประกอบกับความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาดิจิทัลโซลูชั่นของ กสทฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยต่อยอดและพัฒนาเทคโนโลยี ก่อให้เกิดบริการดาวเทียมรูปแบบใหม่ ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมดิจิทัลต่างๆ อย่างแพร่หลาย”
"ไทยคมมุ่งหวังให้ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ยั่งยืนระหว่างไทยคม และ กสทฯและจะเป็นก้าวแรกแห่งความสำเร็จในการร่วมกันพัฒนาการสื่อสาร และเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งของระบบโทรคมนาคมไทยที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไปได้ในอนาคต”
นายอนันต์ กล่าว
พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสทฯ เปิดเผยว่า ในโลกยุคปัจจุบันเมื่อการสื่อสารผ่านดาวเทียมมีความจำเป็นเพิ่มขึ้น การพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมจึงต้องไม่หยุดนิ่ง ด้วยศักยภาพผู้นำในการให้บริการดิจิทัลและโทรคมนาคมของประเทศ กสทฯได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการใช้งานของผู้บริโภคในปัจจุบัน การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนครั้งนี้ เป็นการเพิ่มโอกาสในการพัฒนาการให้บริการเทคโนโลยีผ่านระบบดาวเทียมวงโคจรต่ำ เพื่อตอบโจทย์ทุกการสื่อสารหลากหลายรูปแบบที่จะเกิดขึ้น และครอบคลุมทั่วประเทศ”
นอกจากนี้ ทั้ง 2 องค์กรได้เล็งเห็นว่า สถานการณ์การเกิดขึ้นของโควิด-19 ส่งผลทำให้พฤติกรรมการดำเนินชีวิตของผู้คนมีการเปลี่ยนแปลง องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนมีการปรับตัวใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำงานมากขึ้น ส่งผลให้การทำธุรกรรมทางออนไลน์ต่างๆ มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ดังนั้น การพัฒนาบริการเทคโนโลยีผ่านระบบดาวเทียมวงโคจรต่ำ จะสามารถรองรับพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคในยุค New Normal ได้อย่างลงตัว
อาทิ การใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในยุค 5G, การเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT (Internet of Things), M2M (Machine to Machine), Drone รวมไปถึง การประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมที่ต้องการความแม่นยำสูง เช่น การผ่าตัดทางไกล ซึ่งเทคโนโลยีผ่านระบบดาวเทียมวงโคจรต่ำจะช่วยลดข้อจำกัดและแก้ไขปัญหาในเรื่องพื้นที่การใช้บริการ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในทุกภาคส่วน