คิกออฟ "โมบาย เอ็กซ์โป" เอ็มวิชั่นลุยจัดผสมออนไลน์-ออฟไลน์
คาดเงินยังสะพัด 3,000 ล้านบาท ระบุรูปแบบงานเอ็กซ์โปต่อไปจากนี้จะเปลี่ยนไปสู่ไฮบริดรับวิถีนิว นอร์มอล
เอ็มวิชั่น เข็นงานใหญ่เปิดฉาก “โมบาย เอ็กซ์โป” หลังโดนโควิดเล่นงานต้องเลื่อนจัดเป็นปีแรก คาดครั้งนี้ทำเงินสะพัด 3,000 ล้านบาท เชื่อกำลังซื้อกลับมาหลังอั้นมานาน ขณะที่ประเมินคนร่วมงานอาจหายไป 50% จากครั้งก่อน ระบุ รูปแบบงานเอ็กซ์โปในอนาคตเปลี่ยนสู่รูปแบบไฮบริด ผสาน 'ออฟไลน์-ออนไลน์' รับวิถีนิว นอร์มอล
นายโอภาส เฉิดพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอ็ม วิชั่น หรือ เอ็มวีพี ผู้จัดงานโมบายเอ็กซ์โป กล่าวว่า ไทยแลนด์ โมบาย เอ็กซ์โป ครั้งที่ 36 ที่จัดขึ้นวานนี้ (2 ก.ค. ) ไปจนถึงวันที่ 5 ก.ค. 2563 ที่ศูนย์นิทรรศการไบเทค บางนา ถือเป็นงานนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีขนาดใหญ่งานแรกของประเทศไทย หลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) เริ่มคลี่คลายลง โดยบริษัทเชื่อว่าภาพรวมการจัดงาน น่าจะได้รับการตอบรับที่ดี เห็นความพร้อมก่อนการเริ่มงาน พบว่า ทุกแบรนด์มีการเตรียมตัวที่จริงจัง โดยพื้นที่งานไม่ได้ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่เหมือนทุกครั้ง เนื่องจากไม่สามารถจัดกิจกรรมบางอย่างได้ และต้องปฎิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
“เราใช้เวลาเตรียมงาน 2 สัปดาห์ เมื่อปลดล็อคเห็นว่า ต้องรีบจัดงานให้เร็วที่สุดเพราะไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกหรือไม่ โดยงานอาจจะไม่ตรงหลักการของความเป็นเอ็กซ์โปที่ให้แบรนด์มาแสดงศักยภาพทางการตลาด แต่เมื่อถูกจำกัดในการทำกิจการทางตลาด การจะจัดกิจกรรมตามปกติคงไม่ได้ งานนี้จึงเน้นการขายเป็นหลัก ซึ่งเราก็เชื่อว่าจะมียอดขายที่ดีเพราะคนเริ่มกลับมาใช้เงิน”
เขา เสริมว่า หลังจากช่วงโควิด-19 ผู้บริโภคไม่มั่นใจสถานการณ์จึงไม่กล้าใช้เงิน งานเอ็กซ์โปนี้จึงเปรียบเหมือนเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อในครึ่งปีหลังไปในตัว ซึ่งเชื่อว่าเม็ดเงินหมุนเวียนในงานน่าจะอยู่ที่ 2,000-3,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี จำนวนผู้สนใจเข้าร่วมงาน ประเมินว่า คนร่วมงานน่าจะหายไปครึ่งนึงจากปกติที่เคยจัดงานในปีก่อนๆ โดยคาดว่า ตลอดการจัดงานจะมีผู้เข้าร่วมประมาณ 200,000 คน และด้วยมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม จะทำให้ในฮอลล์มีคนได้ประมาณ 3,000 คนในแต่ละช่วงเวลา
นอกจากความเปลี่ยนแปลง เรื่องการออกแบบงานภายใต้วิธีนิว นอร์มอล การจัดโมบาย เอ็กซ์โปในครั้งนี้ ถือเป็นการทดลองจัดงานแบบไฮบริด ด้วยการผสมผสานการทำการตลาดออนไลน์กับออฟไลน์ โดยพันธมิตรผู้ค้าออนไลน์อย่างลาซาด้าและช้อปปี้ ที่เข้ามาร่วมกันส่งเสริมการตลาดไปพร้อมกัน และเป็นการทำตลาดให้ครบวงจรของอีคอมเมิร์ซ โดยผู้ออกบูธในงานสามารถขายผ่านช่องทางออนไลน์ของทั้งสองค่าย
อีกทั้ง ทางลาซาด้าและช้อปปี้ ยังมีโปรโมชั่นกระตุ้นกำลังซื้อ โดยให้คูปองและส่วนลดให้ผู้มาร่วมงาน เพียงแค่สแกนคูปองนำไปเป็นส่วนลดซื้อสินค้าในงาน รวมมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท ดังนั้น หากโมเดลในลักษณะไฮบริดนี้ได้รับการตอบรับที่ดี ก็จะทำให้ในอนาคตบริษัทก็จะสามารถจัดงานขายสินค้าไฮเทคได้รูปแบบเอ็กซ์โปได้
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
“ส่วนกรณีที่บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส มีการจัดเอ็กซ์โป ขายสินค้าไอที สมาร์ทโฟน ในลักษณะเวอร์ชวลเอ็กซ์โป และมีกระแสข่าวว่าไม่ได้มาร่วมงานครั้งนี้ ต้องบอกว่า เอไอเอสได้ส่งตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ที่สุดมาออกบูธแทน เอไอเอสเซ็นต์สัญญากับเราในการจัดงานเป็นประจำและยังคงมีสัญญาอยู่ แต่เป็นเพราะเราเองต้องเลื่อนการจัดงานออกมาทำให้ไปชนกับงานของเอไอเอส ซึ่งก็ได้พูดคุยทำความเข้าใจเอไอเอสแล้ว ทุกคนก็รู้ดีว่าเมื่อหน้าร้านถูกปิดจากโควิด-19 ก็ต้องมาขายออนไลน์ เมื่อมีจังหวะคลายล็อคก็ต้องเร่งจัดงาน เพื่อจะได้รู้ว่าผลตอบรับเป็นอย่างไรจะได้วางแผนได้ถูก”
นายโอภาส กล่าวถึงแนวโน้มการจัดงานเอ็กซ์โปในระยะต่อไปว่า โดยส่วนตัวนั้นยังมองว่างานออนไลน์อย่างเดียวคงไม่ได้ เนื่องจากยังเชื่อว่างานแสดงเทคโนโลยีขายสินค้าออนไลน์อาจจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความสนในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ แต่ยังไม่น่าจะแทนที่งานแสดงเทคโนโลยีขายสินค้าปกติได้ทั้งหมด คือ จินตนาการกับประสบการณ์มันแทนกันไม่ได้ ดังนั้น บริษัทจึงเชื่อว่าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ต้องอยู่ด้วยกัน เพราะพฤติกรรมบางอย่างที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยังแทนกันไม่ได้ทั้งหมด