กรมประมง-สวทช.ขับเคลื่อนงานวิจัย 'สัตว์น้ำ'
กรมประมง ผนึก สวทช. เร่งขับเคลื่อนนวัตกรรมและงานวิจัยด้านการ "เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ" เน้นพึ่งพาทรัพยากรและวัตถุดิบภายในประเทศ หวังเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตสัตว์น้ำของไทยทั้งด้านคุณภาพ-ความปลอดภัย ตั้งเป้ายกระดับขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก
พัฒนาประมงแบบมีส่วนร่วมทุกมิติ
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากข้อมูลการวิเคราะห์สถิติการประมงของจังหวัด พบว่า ตัวเลขข้อมูลของสัตว์น้ำที่ใช้ดำเนินงานจะมาจาก 2 ส่วน คือ การจับสัตว์น้ำจืดจากธรรมชาติ ประมาณ 70% และระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประมาณ 30% กรมประมงจึงมีนโยบายในการวิจัยและพัฒนาในส่วนของระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการอาหารของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
การพัฒนาองค์ความรู้ในการวิจัย การศึกษา และวิเคราะห์จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เติบโจและเจริญก้าวหน้า มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของห่วงโซ่อาหารไปจนถึงกระบวนการแปรรูปอาหาร ความร่วมมือนี้จะตอบโจทย์ประเทศในรูปแบบใหม่ให้เติบโตด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อสร้างธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศสู่การแข่งขันในตลาดโลก
"ดังนั้นการที่อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะเจริญก้าวหน้าสู่อันดับแรก ๆ ของโลกได้นั้น จะต้องเกิดจากการร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง การร่วมมือในครั้งนี้กับเชื่อมั่นว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกต่อไปในอนาคต"
ดึงวิจัย ลงสู่สัตว์น้ำไทย
ด้านนายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. มีโปรแกรมการผลิตสัตว์น้ำและสุขภาพสัตว์น้ำ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวิจัยด้านเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ ทำงานเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับการผลิตสัตว์น้ำเศรษฐกิจ โดยเน้นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พึ่งพาทรัพยากรและวัตถุดิบภายในประเทศและเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตสัตว์น้ำของประเทศทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ครอบคลุมการวิจัยและพัฒนาในหลายด้าน เช่น ด้านการปรับปรุงพันธุ์ ที่มีงานวิจัยเกี่ยวกับการคัดเลือกพันธุ์โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุล
ด้านอาหารมีการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์เพื่อพัฒนาเป็นอาหารและสารเสริมภูมิคุ้มกันในสัตว์น้ำ รวมถึงการพัฒนาสูตรอาหารสัตว์น้ำโดยใช้เทคโนโลยีการเก็บสารสำคัญ ด้านระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีการพัฒนางานวิจัยด้านระบบอัจฉริยะที่ช่วยเกษตรกรติดตามดูแลคุณภาพน้ำในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ อันประกอบด้วย 3 เทคโนโลยีหลักคือ ระบบบริหารจัดการคุณภาพน้ำ อุปกรณ์ตรวจวัดปริมาณสารเคมี อุปกรณ์ตรวจวัดการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย รวมไปถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคและสุขภาพสัตว์น้ำ เช่น การพัฒนานาโนวัคซีนเพื่อป้องกันโรคในสัตว์น้ำ
"รวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การพัฒนาบุคลากร ตลอดจนร่วมกันกำหนดทิศทางงานวิจัยและพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และการทำให้สัตว์น้ำไทยมีเอกลักษณ์เป็นที่หนึ่งของโลก"
ดันสัตว์น้ำไทยโกอินเตอร์
อย่างไรก็ตามประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีจุดแข็งในเรื่องของภูมิประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ มีผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยด้านสัตว์น้ำ เกษตรกร รวมทั้งภาคเอกชนมีความเข้มแข็งเข้าถึง วทน. และตลาดได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่อยู่เสมอ ทำให้มีโอกาสพัฒนาธุรกิจทางด้านสัตว์น้ำให้เติบโตขึ้นได้ เนื่องจากบ้างครั้งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอาจได้รับผลกระทบจากสภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสม ทั้งการเกิดโรคระบาด ที่อาจส่งผลต่อระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำจึงต้องอาศัยองค์ความรู้ในการบริหารจัดการ
ปัจจุบัน สวทช. เริ่มมีงานวิจัยที่ทำร่วมกับกรมประมง เช่น โครงการ “การปรับปรุงลักษณะการเจริญเติบโตปลานิลในระบบการเลี้ยงแบบน้ำหมุนเวียน” ที่ดำเนินการอยู่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำปทุมธานี โครงการ “ผลของการใช้ถั่วเหลืองเป็นแหล่งโปรตีนทดแทนปลาป่นในอาหารเม็ดสำเร็จรูปต่ออาการขี้ขาวของกุ้งขาวแวนนาไม” ซึ่งผลงานวิจัยบางส่วนนำมาสู่การเชื่อมโยงกับการทำงานร่วมกัน เพื่อเป็นแนวทางนำผลงานวิจัยที่เข้มแข็งไปประยุกต์ใช้และสนับสนุนอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน” ณรงค์ กล่าว