สวทช.หนุน ‘ไร่เลย์โมเดล’ ท่องเที่ยววิถีใหม่อิงนวัตกรรม
ท่องเที่ยววิถีใหม่“ไร่เลย์โมเดล” รับอานิสงส์จากวิกฤติโควิด-19 อาศัยนวัตกรรมจากสวทช.และสตาร์ทอัพ“คิวคิว”จัดระเบียบพื้นที่ คุมความหนาแน่นนักท่องเที่ยวส่งเสริมความปลอดภัย ตั้งเป้าฟื้นฟูจุดขายแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางธรรมชาติและอนุรักษ์เพื่อความยั่งยืน
หนุนจับคู่ชูท่องเที่ยววิถีใหม่
ศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ศูนย์ฯ สนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี ตั้งแต่เริ่มต้นกิจการจนในที่สุดสามารถดำเนินกิจการของตนได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยบริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการนวัตกรรมภายใต้โครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (Incubation) ของ สวทช. และได้รับทุน Startup Voucher หรือทุนสนับสนุนในโครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรม
การสนับสนุนการจับคู่ระหว่างเจ้าของนวัตกรรมกับผู้ใช้งานจริงในครั้งนี้ ดังเช่นชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวอ่าวไร่เลย์แหลมพระนาง ไร่เลย์ โมเดล กับ บริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น QueQ ด้วยการนำแอพพลิเคชั่นไปใช้งานจริงกับการจัดการความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในช่วงสถานการณ์หลังคลายล็อกดาวน์ รวมถึงความหนาแน่นของการจอดเรือในท่าเทียบเรือของหาดไร่เลย์ นับเป็นการนำเทคโนโลยีจากผู้ประกอบการเข้าไปเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ลดแออัด-เว้นระยะห่าง
ด้าน สมบูรณ์ หง้าฝา ประธานชมรมฯ กล่าวว่า ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวเข้าพักกว่า 2 พันคน และกลุ่มไปกลับมีประมาณ 5 พันคนต่อวัน ส่งผลให้เกิดความคับคั่งและก่อให้เกิดมลภาวะด้านต่างๆ จึงมีแนวคิดว่าควรจัดระเบียบพื้นที่ใหม่ภายใต้โครงการ “ไร่เลย์ โมเดล” เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เช่น การเข้าออกของเรือ ความไม่ปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ขยะที่มากับเรือนักท่องเที่ยวและปัญหาการใช้พื้นที่ชายหาดเกินความจำเป็น
"ในช่วงหลังสถานการณ์โควิด เราอาศัยระยะเวลาที่ยังไม่มีมาตรการ travel bubble และมีจำนวนนักท่องเที่ยวไม่หนาแน่น โดยนำเทคโนโลยี “คิวคิว” มาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับพื้นที่ผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งการจัดระเบียบเรือ การจัดโซนกิจกรรมหรือจุดท่องเที่ยวยอดนิยม ขณะเดียวกันได้มีการจัดการลดปัญหาการนำขยะบนชายฝั่ง ยกระดับความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว เช่น ติดตั้งระบบซีซีทีวีในเขตพื้นเส้นทางสัญจรสาธารณะ เพื่อให้สอดรับกับวิถีท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น”
วิชุพรรณ ภูเก้าล้วน ศรีสัญญา นายกสมาคมโรงแรมกระบี่ กล่าวเสริมว่า สิ่งแรกที่ตั้งเป้าไว้คือ “คิวคิว” จะมาตอบโจทย์จุดจอดเรือ ซึ่งเป็นทางเข้าออกทางเดียวทั้งยังทำให้ทราบจำนวนคนเข้าออกที่แน่ชัด และในอนาคตจะสามารถสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวได้
กระบี่มีพื้นที่อุทยาน 4 แห่ง ได้เปิดให้บริการแล้วบางส่วนตั้งแต่ 1 ก.ค. อาทิ เกาะห้อง เกาะพีพี เกาะลันตา เพียงแต่ว่าการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว อาจจะอยู่ในระหว่างการรอนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ประกอบกับโปรโมชั่นจากผู้ประกอบการท้องถิ่น จะสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่อวันไปกลับไม่เกิน 2 พันคน แต่ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมที่เดินทางเข้าไทยด้วยเช่นกัน
จองก่อนเที่ยว-เข้าจอดเรือ
รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ ซีอีโอบริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด และผู้ประกอบการนวัตกรรมในโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี และ Startup Voucher ของ สวทช. กล่าวว่า แอพพลิเคชั่น QueQ (คิวคิว) เริ่มแรกพัฒนาขึ้นมาเพื่อจองคิวร้านอาหารโดยที่ไม่ต้องรอ จนสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการจัดการด้านอื่นๆ ตั้งแต่สถานที่ท่องเที่ยว การสั่งอาหารกลับบ้านหรือการนั่งทานที่ร้าน การนัดหมายร้านตัดผม ร้านเสริมสวย สปา หรือคลินิก การทำจุดรับของ (Drive Thru) ของซูเปอร์มาร์เก็ตและตลาดสด ในส่วนของสถานที่ท่องเที่ยวคิวคิว ได้นำมาใช้กับการจองล่วงหน้าเพื่อเข้าอุทยานแห่งชาติ โดยใช้จริงแล้ว 127 แห่งจากทั้งหมด 155 แห่ง
ในส่วนของอ่าวไร่เลย์แหลมพระนาง จ.กระบี่ ได้นำ “คิวคิว” มาปรับใช้กับการจัดการเรื่องความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวของหาดไร่เลย์ โดยมีบริการใหม่เพิ่มเติมเข้ามา เพื่อทำการตรวจสอบคิวก่อนการเข้าเกาะ ระบบการจองคิวเข้าสถานที่ท่องเที่ยว เป็นการบริหารจัดการการท่องเที่ยวตามแนวทางตามขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) นักท่องเที่ยวสามารถจองใช้บริการการท่องเที่ยวล่วงหน้า ผ่านแอพ QueQ
จากนั้นจะได้รับแจ้งเตือนและนำบัตรคิวไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ง่ายต่อการให้บริการของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการจอง และการลงทะเบียนเข้า-ออกแหล่งท่องเที่ยว อย่างเช่นจุดปีหน้าผา หรือ จุดชมลากูน ส่วนระบบของเจ้าหน้าที่จะเป็นแอพฯ แยกออกมาไว้ในการบริหารจัดการเสมือนเป็นหลังบ้าน
จากพฤติกรรมสู่วัฒนธรรมระบบ
รังสรรค์ กล่าวเสริมว่า คิวคิวยังสามารถนำมาใช้กับการบริหารจัดการความหนาแน่นของการจอดเรือบริเวณท่าเทียบเรือ โดยสามารถกำหนดจำนวนการให้บริการต่อช่วงเวลาผ่านโมบายแอพหรือเว็บตามโควตาแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งระบบแจ้งเตือนเรียกเข้าท่าเรือเมื่อถึงคิว และบริการจ่ายผ่านแอพด้วยช่องทางที่หลากหลาย สร้างรายงานการใช้บริการอัตโนมัติ รองรับผู้ใช้งานแบบไม่จำกัดจำนวน พร้อมทีมดูแลตลอด 24 ชั่วโมง และใช้เวลาขึ้นระบบเพียง 1 วัน
“จากปัญหาที่เด่นชัดที่สุด คือ อ่าวไร่เลย์มีพื้นที่เข้าหลายจุด อย่างแรกที่จะต้องทำคือต้องให้ทุกคนไปที่จุดเช็คพ้อยท์จุดเดียว จากนั้นค่อยกระจายออก จุดเช็คพ้อยท์คือพื้นที่สำคัญที่จะทำให้เราสามารถควบคุมเรื่อง Carrying Capacity ได้"
ทั้งนี้ การควบคุมเรือกว่า 600 ลำจะต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ซึ่งเดิมเคยนำไปใช้กับศูนย์กระจายสินค้าที่มีช่องจอดรถ เพื่อขับรถเข้ามาขนถ่ายสินค้าขึ้นลง จึงนำมาปรับใช้ในลักษณะเดียวกันโดยดัดแปลงท่าเรือเป็นช่องผ่านการต่อเติมทุ่น จากนั้นนำระบบไปให้คนขับเรือและคนที่ดูแลท่าเรือจัดคิวการเข้าออกเรือ จะทำให้เกิดความเป็นระเบียบ สามารถรองรับเรือจำนวนมากและช่วยลดความโกลาหลได้ ส่งผลให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวก็จะเป็นระเบียบมากขึ้น
แต่ทั้งนี้เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่จะใช้งานด้วยเช่นกัน บริษัทได้พัฒนาเทคโนโลยีให้ใช้งานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ เมื่อเกิดประสิทธิผลสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวได้แล้ว จากนั้นจะสามารถต่อยอดสู่เกาะและพื้นที่อื่นๆ ได้เช่นกัน ขณะเดียวกันในส่วนของค่าใช้จ่ายนั้นเนื่องจากจังหวัดกระบี่เป็นพื้นที่นำร่องใช้งาน และได้รับอุดหนุนจากภาครัฐ ทำให้ผู้ประกอบการไม่เสียค่าใช้จ่าย