เปิดม่าน ‘มหกรรมวิจัย’ วช.ชูนวัตกรรมสู้โควิด!
วช.พร้อมเปิดฉาก “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ” นำเสนอผลงานวิจัยที่มีศักยภาพกว่า300ผลงานจาก5กลุ่ม ไฮไลท์งานชูนวัตกรรมตอบโจทย์“โควิด-โรคอุบัติใหม่” ชุดป้องกันทางการแพทย์ ชุดทดสอบโรค สเปรย์เคลือบหน้ากากป้องกันไวรัส สร้างความพร้อมให้คนไทยเรียนรู้วิถีนิวนอร์มอล
ปูทางวิจัยไทยสู่การใช้จริง
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า การสร้างความสมดุลของโลกในมิติต่างๆภายใต้บรรทัดฐานใหม่ หรือนิวนอร์มอล ที่ส่งผลให้การดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตใต้หลักมาตรฐานที่ไม่คุ้นเคยในทุกๆด้าน งานวิจัยและนวัตกรรมจึงเป็นกลไกและเครื่องมือสำคัญที่เข้ามามีบทบาทและรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 และการใช้ชีวิตในยุคหลังโควิด ด้วยการบูรณาการในทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้ผลวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ประเด็นปัญหา นำไปสู่การแก้ไขและสามารถพึ่งพาตนเองได้ในสังคมวิถีใหม่
ดังนั้น เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเพื่อให้สอดคล้องกับหน่วยงานทุกภาคส่วน จึงสนับสนุนให้เกิดการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563” ระหว่างวันที่ 2-6 ส.ค.นี้ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เวทีสำคัญในการนำเสนอผลงานวิจัยที่มีศักยภาพ หรือพร้อมใช้ประโยชน์ในรูปแบบที่หลากหลาย และสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน นำพาประเทศไทยฝ่าวิกฤติโควิด-19
นิทรรศการผลงานแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ 1.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ 2. งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม 3. งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 4. งานวิจัย และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ และ5. งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี
รวมถึงนิทรรศการไฮไลท์ แสดงผลงานวิจัยและกิจกรรมการวิจัยจากหน่วยงานในระบบวิจัยร่วมด้วยนิทรรศการนวัตกรรมตอบโจทย์ “โรคอุบัติใหม่” และนิทรรศการชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม กว่า 300 ผลงาน
โดยมุ่งเน้นเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศทั้งในมิติเชิงวิชาการนโยบาย สังคม ชุมชน และพาณิชย์อุตสาหกรรม อาทิ งานวิจัยจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลงาน ชุด PPE และมาตรฐานผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์งานวิจัยจาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผลงาน Covid 19 Genstrip test งานวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผลงาน มดบริรักษ์ หรือกำแพงต้นไม้บำบัดมลพิษ งานวิจัยจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ผลงาน นวัตกรรมสเปรย์เคลือบผิวหน้ากากผ้าสำหรับป้องกันไวรัส
อีกทั้งผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษากว่า 100 ผลงาน และกิจกรรมภาคการประชุมกว่า 120 หัวข้อเรื่อง อาทิ พลิกวิกฤติโควิด-19 ด้วยนวัตกรรมการแพทย์ เครื่องมือเปิดเมืองปลอดภัย Thai stop covid ที่ล้วนส่งเสริมกลไกการเชื่อมโยงการพัฒนางานวิจัยในประเทศ และกิจกรรมนำเสนอบทความงานวิจัยกว่า 100 ผลงาน กิจกรรมมอบรางวัล Thailand Research Expo 2020 ให้แก่หน่วยงานที่นำเสนอนิทรรศการงานวิจัยได้อย่างโดดเด่นและผลงานวิจัยมีคุณภาพ
เข้มมาตรการ social distancing
“ภาคการวิจัยของประเทศมีความตื่นตัวอย่างมาก มีหลายภาคส่วนเข้ามาทำงานวิจัยเกี่ยวกับโควิด จึงถือเป็นภาพใหม่ของการวิจัย ซึ่งไม่ได้มีวิจัยในเชิงวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังมีมิติทางด้านสังคมและด้านอื่นๆ ด้วย จึงนำเสนอ 3 ส่วนสำคัญ คือ 1.ข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เป็นงานวิจัยที่นำไปใช้แล้วและได้ประสิทธิภาพ อาทิ ชุดตรวจโรค อุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์อย่างชุดพีพีอี เครื่องช่วยหายใจขนาดเล็ก รวมกว่า 37 ชิ้น และหุ่นยนต์อำนวยความสะดวกกว่า 200 รูปแบบ"
2.งานวิจัยที่เตรียมใช้หลังโควิด โดยจะเกี่ยวข้องกับการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน ผ่านการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ 3.งานวิจัยที่จะส่งเสริมการเข้าสู่นิวนอร์มอล อย่างภาคเสวนาทางวิชาการ
ย้ำไม่รับวอล์คอิน
ขณะเดียวกันภายในงานจำเป็นต้องมีมาตรการในการคัดกรองผู้เข้าร่วมงานและนิทรรศการอย่างเข้มงวด โดยกำหนดผู้เข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนได้ 2 รูปแบบได้แก่ 1.รูปแบบออนไลน์ 2.รูปแบบ Onsite หรือ การเข้าร่วมสัมมนาและชมนิทรรศการณสถานที่จัดงานผ่านทางเว็บไซต์ โดยสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้- 31 ก.ค.นี้ (https://researchexpo.nrct.go.th/web2020/) และจำกัดจำนวนผู้เข้าชมงาน จึงงดลงทะเบียนหน้างานและวอล์คอินในทุกกรณี