‘วอชอีซี่’ โมเดลสตาร์ทอัพ ซักผ้าง่ายๆ ไร้เงินสด
“เปลี่ยนเพนพ้อยท์ให้เป็นธุรกิจ”โมเดลเริ่มต้นกิจการของสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ โดยมีเทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ เป็นเครื่องมือการทำงาน เช่นเดียวกับ “วอชอีซี่”สตาร์ทอัพน้องใหม่จากรั้ว มข.ประยุกต์ใช้“ไอโอที”สร้างกล่องควบคุมเครื่องซักผ้าหรือเครื่องอบผ้าและจ่ายผ่านแอพฯ
การันตีไอเดียด้วยรางวัลหลากหลายจากการประกวดแผนธุรกิจสตาร์ทอัพ ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ เช่น 10 ทีมสุดท้ายของโครงการ Startup Thailand League 2560, 3 ทีมสุดท้ายของโครงการ Startup Innovation Apprentice 2560, รางวัลชนะเลิศ Pitching Day Startup Start Now KKU 2561, ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Ted Fund) ล่าสุดทุนสนับสนุนจากธนาคารออมสินในโครงการ GSB Smart SMEs Smart Startup และ โครงการ Startup pitching day for KKU เพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจในเชิงพาณิชย์ จัดขึ้นโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ต่อยอดวิทยานิพนธ์เป็นธุรกิจ
คุณัญญา ยุปาระมี กรรมการผู้จัดการบริษัท วอชอีซี่ จำกัด เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นการทำธุรกิจเกิดจากประสบการณ์ขณะกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์พบความไม่สะดวกในการใช้บริการเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ เช่น เครื่องไม่ว่าง เหรียญไม่พอจ่าย จึงขบคิดหาทางแก้ไขแล้วนำแนวคิดเข้าร่วมประกวดโครงการต่างๆ เพื่อหาทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระทั่งเมื่อจบการศึกษาจึงได้เปิดเป็นบริษัทร่วมกับ “ปภวรินท์ ศรีมีชัย” เพื่อนร่วมสถาบัน
ทีมงานประยุกต์ใช้ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีไอโอที ซึ่งเชื่อมต่ออุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ สู่โลกอินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถควบคุมการใช้งานผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบกล่องแล้วนำไปติดกับเครื่องซักผ้าและเครื่องอบ พร้อมทั้งพัฒนาซอฟต์แวร์สั่งการควบคุมเครื่องผ่านกล่องไอโอที
ผู้ใช้สามารถสั่งซักผ้าและชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่น สามารถค้นหาเครื่องที่ใกล้ที่สุด ตรวจสอบสถานะเครื่องว่างหรือไม่ว่างแบบเรียลไทม์ เครื่องไหนมีการจองคิวอยู่ หรือเครื่องไหนไม่ได้ใช้งาน และบอกเวลาซักผ่านสมาร์ทโฟน ทั้งยังแจ้งเตือนเมื่อทำงานเสร็จและการสะสมแต้มเพื่อรับสิทธิพิเศษต่างๆ
ส่วนเจ้าของเครื่องซักผ้าสามารถเช็คสถิติการใช้เครื่อง ยอดเงินที่ได้รับแต่ละเครื่อง ยอดเงินรวมทั้งหมด โดยแสดงการใช้งานและยอดเงินในรูปแบบกราฟ อีกทั้งการแจ้งเตือนหากเครื่องขัดข้องในกรณีต่างๆ เช่น น้ำไม่ไหล ฝาถังปิดไม่สนิท ไฟดับ เครื่องเสีย หรือน้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่มหมด ทำให้ทั้งผู้ใช้และเจ้าของเครื่องลดขั้นตอนยุ่งยากในการดูแลและติดตามสถานะของเครื่อง
“กล่องไอโอทีนี้จะเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ที่ลงทุนมากขึ้น โดยไม่ต้องไปเก็บเหรียญตามเครื่องซักผ้า มีความปลอดภัยด้านการเงิน ไม่เกิดความเสี่ยงที่จะถูกงัดตู้หยอดเหรียญ หรือความเสี่ยงจากการทุจริตของพนักงาน เพราะคุณไม่สามารถรู้ได้เลยว่า กล่องหยอดเหรียญมีเงินจริงอยู่เท่าไหร่ ขณะที่ระบบอัตโนมัตินี้จะจัดการเงินให้เข้าบัญชีโดยตรง และยังเพิ่มรายได้มากขึ้นจากการลดช่วงเวลาที่ผู้ใช้ทิ้งผ้าไว้ในเครื่อง เพราะระบบจะแจ้งเตือนไปยังมือถือของผู้ใช้ทันที รวมทั้งเพิ่มรายได้จากการจองคิวซักผ้าที่ต่อเนื่อง ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องเสียเวลารอคิว”
รายได้ของบริษัทมาจากการจำหน่ายกล่องไอโอทีประมาณ 4,000 บาทและค่าบริการดูแลระบบ 1 บาทต่อการซัก เช่น เมื่อลูกค้าซักผ้า 40 บาทเจ้าของเครื่องจะได้ 39บาท บริษัทจะได้ 1 บาท จากการคำนวณเบื้องต้นที่มีจำนวนการซักผ้า 10 ครั้งต่อวันต่อเครื่อง ในการลงทุนนี้ใช้เวลาคืนทุนประมาณ 2 เดือน
พื้นที่บ่มเพาะสตาร์ทอัพ
อรพรรณ สุวรรณวิจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านสื่อสารและบริการสังคม อุทยานวิทยาศาสตร์ มข. กล่าวว่า อุทยานฯ ตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งกำเนิดผู้ประกอบการรายใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นธุรกิจ หรือสร้างสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรม โดยมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับทั้งอุปกรณ์เครื่องมือ พื้นที่อาคาร ห้องปฏิบัติการและองค์ความรู้ อีกทั้งเป็นหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการหรือนักลงทุนรุ่นใหม่ได้เข้าใช้นวัตกรรม แล้วนำองค์ความรู้ที่ได้ไปต่อยอดธุรกิจและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับประเทศ
พื้นที่แห่งนี้ยังมีสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่เติบโตโดยการสนับสนุนจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผ่านกลไกอุทยานฯ ที่ให้บริการพื้นที่และให้คำปรึกษาด้านธุรกิจสำหรับนักศึกษา สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี ก่อเกิดเป็นระบบนิเวศนวัตกรรมที่สร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ภาคอีสาน