อานิสงส์ ‘โควิด+ฝุ่นจิ๋ว’ ดันอีวีแจ้งเกิดเต็มรูปแบบ

อานิสงส์ ‘โควิด+ฝุ่นจิ๋ว’ ดันอีวีแจ้งเกิดเต็มรูปแบบ

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ชี้โควิด-19 กระทบตลาดรถอีวีระยะสั้น แต่ปัจจัยด้านฝุ่นพีเอ็ม2.5 จะเป็นตัวเร่งให้ความต้องการยานยนต์รักโลกฟื้นตัวเร็ว เกิดการผลักดันให้ผู้ผลิตตื่นตัวเร่งสายพานเดินหน้าผลิตมากขึ้น สอดรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนิวนอร์มอลใส่ใจสิ่งแวดล้อม

เทรนด์ยานยนต์รักโลกรอฟื้นตัว

ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ Techsauce Live หัวข้อ “เจาะทิศทางธุรกิจ EV โอกาสและความท้าทายยุคหลังโควิด-19” ว่า ภาพรวมดีมานด์การซื้อรถยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าในช่วงเวลาหลังโควิด-19 ระยะสั้นได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เนื่องจากภาพรวมของเศรษฐกิจทุกเซกเตอร์ต่างได้รับผลกระทบ แต่ในระยะยาวเมื่อเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ก็ย่อมฟื้นตัวตามไปด้วย 

159542622217

ยานยนต์ไฟฟ้าก็เป็นเทรนด์ที่จะเกิดตามมา เพราะเมื่อสภาวการณ์กลับสู่ปกติ ปัญหามลภาวะทางอากาศก็ย่อมกลับมาเช่นเดียวกัน จึงต้องมีการผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และจะเป็นหนึ่งทางเลือกของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ หากจะต้องลงทุนในอนาคตเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า

“เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ไม่ได้มีเพียงแค่พลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีองค์ประกอบที่หลากหลาย อาทิ การขับขี่อัตโนมัติ การเชื่อมต่อกับภายนอก และธุรกิจบริการใหม่อย่าง Sharing Mobility ซึ่งมีผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพไทยหลายรายกำลังเตรียมรับเทรนด์ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าหรืออีวีคาร์ ขณะเดียวกันระหว่างที่มีการพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ ตัวเทคโนโลยีแบตเตอรี่ก็จะมีการพัฒนาควบคู่ไปเรื่อยๆ เช่นกัน”

ปัจจัยที่จะทำให้คนไทยยอมรับและเชื่อมั่นที่จะขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งการร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อผลักดันให้มีระบบนิเวศ จะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนนั่นคือ การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหามลพิษจากการขนส่ง และส่งเสริมให้เกิดการผลิตในประเทศโดยอาศัยการวิจัยและพัฒนา ส่งผลให้ผู้บริโภคพร้อมที่จะตอบรับรถอีวีมากขึ้น แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวลงก็ตาม

ดันไทยฮับฐานผลิตรถอีวี

ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับที่ 12 ของโลก เป็นฐานการผลิตยานยนต์มาเกือบ 50 ปี ในปีที่ผ่านมามียอดการผลิตรวมกว่า 2 ล้านคัน สร้างรายได้กว่า 6 แสนล้านบาท ทั้งยังเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่ต้องเผชิญบททดสอบจากสงครามการค้าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปสู่ “ยานยนต์ไฟฟ้า 100%” (อีวี) ถือเป็นมิติใหม่แห่งวงการยานยนต์โลก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาครัฐตระหนักถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดกับอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงเริ่มออกนโยบายส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น มาตรการสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน การจัดทำแผนที่นำทางยานยนต์ไฟฟ้าแบบบูรณาการ (EV Roadmap) อย่างเป็นรูปธรรม การปรับปรุงกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ส่วนการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้านั้น ภาครัฐควรออกมาตรการส่งเสริม ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมให้ประชาชนซื้อยานยนต์ไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสม การลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

159542596842

“การบูรณาการหลายหน่วยงานจะทำให้เราสามารถมีโรดแมพที่จะให้ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมเห็นภาพเดียวกัน รวมถึงผลักดันผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เพื่อเร่งให้เกิดการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศโดยเร็ว สอดรับกับเป้าหมายในปี 2573 มุ่งให้ประเทศไทยมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 30% ของปริมาณการผลิตยานยนต์ทั้งหมด

แต่ความยากจะอยู่ที่บริษัทเหล่านี้จะสเกลอัพเป็นแมสโปรดักส์ชั่นได้หรือไม่ ทำอย่างไรให้ราคาต้นทุนถูกลง และหากต้องการอยู่ในตลาดได้จะต้องอาศัยปริมาณ จึงต้องคำนึงถึงเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่จะทำให้ต้นทุนที่ต่ำลง ประกอบกับการบริหารจัดการซัพพลายเชนเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม

159542594444

อย่างไรก็ตาม ไทยถือเป็นยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาค จึงควรที่จะมีแรงงานที่มีทักษะความชำนาญและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย หากเทียบกับประเทศในอาเซียน ดังนั้น จึงควรเร่งส่งเสริมวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น