‘ปุ๋ยคืนดี’ เรียนรู้แนวทางการออกแบบที่ไม่ใช่แค่ ‘สวย’
แบ่งปันประสบการณ์การทำงานของ “ยินดี ดีไซน์” กับการออกแบบบรรจุภัณฑ์แบรนด์ปุ๋ยหมัก “คืนดี” ที่ไม่ได้ใช้ทักษะด้านงานศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่คือการใช้เหตุ และผลในการวิเคราะห์ข้อมูลก่อนการออกแบบ
หลายท่านอาจคิดว่า งานออกแบบใช้ทักษะความถนัดทางด้านศิลปะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ/หรือบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงาม ซึ่งความเข้าใจนั้นไม่ผิดครับ แต่ยังไม่ทั้งหมดครับผม เพราะกว่าที่นักออกแบบจะสร้างสรรค์ผลงาน ทุกคนล้วนเริ่มต้นจากการศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ ปัญหาการใช้งานจากผลิตภัณฑ์เดิม ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย คู่แข่งทางการตลาด เป้าหมายในการทำธุรกิจ เพื่อกำหนดเอกลักษณ์ของแบรนด์ จากนั้นทีมงานจะทำการย่อยข้อมูล วิเคราะห์หาเหตุ และผลในเชิงตรรกะ เพื่อสร้างโจทย์หรือ Design Brief สำหรับใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบการทำงานออกแบบสร้างสรรค์
วันนี้ผมขอหยิบยกตัวอย่างการทำงานที่น่าสนใจจาก “ยินดี ดีไซน์” กับรูปแบบการทำงานที่ไม่ได้เริ่มต้นที่ผลิตภัณฑ์จะต้องสวย บรรจุภัณฑ์จะต้องงาม แต่คือการนั่งสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้ประกอบการ เพื่อค้นหาหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ แนวคิดในการทำธุรกิจ กลุ่มเป้าหมาย ฯลฯ เพราะทีมงานเชื่อมั่นว่า แบรนด์แต่ละแบรนด์ล้วนมีวิถีของตัวเอง มันไม่ใช่แค่เรื่องภายนอกที่เกี่ยวข้องกับความสวยงามเท่านั้น แต่มันจะต้องถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากภายใน ดังนั้นการเริ่มต้นการทำงานที่ดีคือ การค้นหาตัวเองก่อนว่าข้างในแบรนด์ของเราคือใคร เป็นอย่างไร แล้วงานออกแบบผลิตภัณฑ์ และ/หรือบรรจุภัณฑ์จะสะท้อนตัวตนออกมาเอง
และนี่คือการเริ่มต้นการทำงานออกแบบบรรจุภัณฑ์แบรนด์ “คืนดี” ปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง วิศวกรรม แม่โจ้ 1 ผลงานที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติโดย ผศ. ธีรพงศ์ สว่างปัญญากูล (อาจารย์ลุง) ที่ผู้ประกอบการ - บริษัท ที.เค. ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ จำกัด นำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จุดเด่นของปุ๋ยคืนดีมีอยู่ 4 อย่างสำคัญ ได้แก่ ปุ๋ยแท้ น้ำหนักเบา / ไม่มีกลิ่น / ไม่มีเชื้อโรค / ไม่มีไข่ของหนอน และแมลง ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการทำปุ๋ยแบบใหม่ ที่ใช้เศษพืช และมูลสัตว์ผสมตามอัตราส่วน พืช 3 : มูลสัตว์ 1 และการใส่อินทรีย์วัตถุตามสูตรที่ผู้ประกอบการพัฒนาเพิ่มเติม ซึ่งเป็น Functional Benefit ที่ผู้ใช้จะได้รับ พร้อม Brand Value ของปุ๋ยคืนดีที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคม พร้อม ๆ ไปกับการช่วยลดปริมาณขยะอินทรีย์ เช่น ฟางช้าว เปลือกข้าวโพด เศษกิ่งไม้ เป็นต้น ภายในชุมชน
และที่สำคัญ ชื่อของปุ๋ย “คืนดี” มีนัยะที่ต้องการสื่อให้ผู้ใช้รู้ว่า “เราควรตอบแทนดินด้วยการเพิ่มแร่ธาตุดี ๆ ให้กับดิน ถ้าเราตั้งใจคืนดีกลับดิน ดินก็จะคืนดีกลับเรา” ทั้งหมดนี้คือบทสรุปของโจทย์ หรือ Design Brief ที่นักออกแบบนำมาใช้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ เริ่มจากการพัฒนาโลโก้ปุ๋ย “คืนดี” ให้เป็นตัวอักษรที่ใหญ่ชัดเจน โดยมีโลโก้แบรนด์ “กรีนฮอร์ส” ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนไว้นานแล้ว วางไว้ทางด้านล่างของบรรจุภัณฑ์ตามกฎระเบียบ
เพื่อสร้างความแตกต่างด้านภาพจำบนบรรจุภัณฑ์ทีมงานเลือกใช้ภาพดินจริง ปุ๋ยจริง ที่มีสีเข้ม บ่งบอกถึงแร่ธาตุ มีต้นไม้ ไส้เดือนที่มองจากมุมสูง เพื่อสื่อสารให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ เน้นความเป็นอินทรีย์ 100% และเป็นภาพจำใหม่ของผลิตภัณฑ์ปุ๋ยที่ส่วนใหญ่จะใช้สัตว์เป็นตราสัญลักษณ์ และเน้นที่ข้อความตัวอักษรอย่างเดียวตามกำหนดของทางราชการ
ด้วยกลุ่มเป้าหมายของปุ๋ยคืนดีที่อยากเข้าถึงกลุ่มเกษตรกร และคนในเมืองที่รักการปลูกต้นไม้ ทีมงานจึงออกแบบถุงปุ๋ยให้มี 2 ขนาด คือ 6 ลิตร สำหรับใช้ในครัวเรือน และ 30 กิโลกรัมสำหรับเกษตรกร โดยเพิ่มรูปผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ทุเรียน ให้เห็นชัดขึ้นบนบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกร
นอกจากวิธีใช้ปุ๋ยที่พิมพ์ลงด้านหลังบรรจุภัณฑ์แล้ว ทีมงานยังใส่วิธีการทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง วิศวกรรม แม่โจ้ 1 ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ๆ ลงไปด้วย เพื่อเผยแพร่ความรู้ และกระตุ้นให้ลูกค้าที่สนใจสามารถนำไปทดลองทำที่สวนตัวเองได้ เรียกได้ว่า ไม่จำเป็นต้องซื้อปุ๋ยกับเราก็ได้นะ เพราะเป้าประสงค์หลักคือ อยากให้ทุกคนได้คืนดีกับดินเหมือนกัน ซึ่งนั่นคือ หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ
อีกหนึ่งตัวอย่างการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้ใช้ทักษะด้านงานศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่คือการใช้เหตุ และผลในการวิเคราะห์ข้อมูลก่อนการออกแบบ .... ชื่นชมมาก ๆ ครับ