กางโมเดลบีซีจี ‘อาหาร’ ตอบเทรนด์ผู้บริโภคยุคโควิด 

กางโมเดลบีซีจี ‘อาหาร’ ตอบเทรนด์ผู้บริโภคยุคโควิด 

“อาหาร” เป็น 1 ใน 8 อุตสาหกรรมที่ได้รับการบรรจุในโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจีโมเดล) ระบุเป้าหมาย Hygienic Kitchen of the World เป็นแหล่งผลิตอาหารของโลกที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัยและความสะอาด

รับ ‘บีซีจี’ เสริมแกร่ง

ผู้นำอาณาจักรอาหารครบวงจร “ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงมุมมองในการสานพลังเพื่อการขับเคลื่อนบีซีจีสู่การปฏิบัติผ่าน 9 อุตสาหกรรมในการประชุมสมัชชาบีซีจี ว่า ความท้าท้ายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกลุ่มอาหาร ประกอบด้วย 1.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การลดต้นทุน รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ โรโบติก เอไอ เพื่อนำมาใช้ในส่วนการผลิต

159611303167

2.การปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 3.สร้างนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าสูง และ 4.การควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านอาหารปลอดภัยของประเทศไทย

“โอกาสของกลุ่มอาหารนั้นมีค่อนข้างมาก เนื่องจากตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของโลกมีโอกาสเติบโตจาก 161.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2561 เป็น 275.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2568 อีกทั้งประเทศไทยมีศักยภาพในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์อาหารให้เป็นที่ยอมรับของตลาดสากล"

159611341056

ขณะเดียวกันแนวโน้มความต้องการอาหารของโลกปรับเปลี่ยนไปหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ผู้บริโภคมีความต้องการอาหารที่หลากหลาย และให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพอนามัย คุณค่าทางโภชนาการสูง และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น หรือแม้กระทั่งอาหารที่ผลิตจากกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การผลักดันทางกลุ่มอาหาร แบ่งเป็น 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ 1.กลุ่มอุตฯ อาหารเดิม (Commodity) อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ไก่ กุ้ง ปลาทูน่า น้ำตาล ที่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดต้นทุน โดยเน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ทั้งในส่วนของการผลิตและการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่

159611328835


2.กลุ่มอุตฯอาหารใหม่ (Functional Food) อาทิ อาหารเฉพาะกลุ่ม อาหารฟังก์ชั่น Functional ingredients รวมถึงอาหารทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เพิ่งเริ่มต้นจึงยังมีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีโอกาสการเติบโตสูงในยุคหลังโควิด-19 เพื่อทดแทนและรองรับจากกลุ่มอุตฯ ดั้งเดิม 3.กลุ่มอาหารท้องถิ่นและอาหารริมทาง เป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับคนค่อนข้างมาก และส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและดูแลเพื่อให้เติบโตได้ในอนาคต

ธีรพงศ์ กล่าวอีกว่า แนวทางการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจบีซีจีในกลุ่มอาหาร ประกอบด้วย 6 ด้านคือ 1.เร่งรัดให้เกิดการนำนวัตกรรมรวมถึงระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อลดต้นทุน 2.รัฐจะต้องมีมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทุกระดับปรับเปลี่ยนสู่กระบวนการผลิตสีเขียว ซึ่งมีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 3.สนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม 

4.รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์และการผลิต อาทิ หน่วยงานทดสอบทางคลินิก CRO สำหรับอาหารฟังก์ชั่น อาหารทางการแพทย์ อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศด้านการวิเคราะห์ทดสอบอาหารฟังก์ชั่นของประเทศ และโรงงานต้นแบบผลิตอาหารที่ได้รับมาตรฐานจีเอ็มพี

159611332039


5.รัฐจะต้องจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (one stop service) อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจทั้งเรื่องมาตรฐาน การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการสร้างแบรนด์ 6.เร่งรัดความร่วมมือในลักษณะระหว่างภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษา รวมทั้งความร่วมมือเฉพาะกลุ่ม เช่น เอกชน-เอกชน, มหาวิทยาลัย-มหาวิทยาลัย เพื่อนำจุดแข็งของแต่ละกลุ่มมาร่วมมือกันและต่อยอดให้สามารถยกระดับได้

ชงคลายล็อกกฎระเบียบ

แม้จะมีเป้าหมายและกลไกการขับเคลื่อน แต่จะต้องมีการปลดล็อกในด้านต่างๆ เช่นกัน 1.ผลักดันให้มีช่องทางพิเศษในการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่มบีซีจี 2.การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างแท้จริง 3.การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เช่น อาหารสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยและเด็ก

"ทั้งหมดนี้จะสร้างผลกระทบของการพัฒนาบีซีจีของกลุ่มอาหารใน 3 ด้านคือ คือ 1.การผลักดันจีดีพี 3 แสนล้านบาท 2.ลดความเหลื่อมล้ำ ก่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และ 3.สร้างความยั่งยืน โดยการลดการสูญเสียอาหารจาก 30% เหลือ 15% ในปี 2567 และ10% ในปี 2573” ธีรพงศ์ กล่าว