ม.อ.ดึงวิจัยผลิต 'กาวยางพารา' กลิ่นสมุนไพรไล่มด
ม.สงขลานครินทร์ คิดค้นกาวยางพารา กลิ่นสมุนไพรไล่มด ใช้งานง่ายได้หลายครั้งทำมาจากยางพารา มีความเหนียว เกาะติดวัสดุได้ดี ปั้นเป็นรูปทรงก้อนหรือนำมาพันภาชนะ พันขาโต๊ะเพื่อความสะดวกในการใช้งานหลายรูปแบบ ล่าสุดเร่งผลักดันสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์
ผศ.นริศ ท้าวจันทร์ ภาควิชาการจัดการศัตรูพืช คณะทรัพยากรธรรมชาติ วิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ม.อ. ได้คิดค้นกาวยางพารากลิ่นสมุนไพรเพื่อไล่มด ที่ใช้แนวคิดพัฒนาวิธีป้องกันมดตอมอาหาร โดยใช้หลักการเดียวกับวัสดุของ 3M ที่เป็นกาวกระดาษสามารถใช้งานได้หลายครั้ง และเมื่อมาพิจารณายางพาราที่สามารถนำมาพัฒนาได้ เนื่องจากมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าสามารถใส่สารลงไปแล้วค่อยๆ ปลดปล่อยสารได้ยาวนาน หากนำมาประยุกต์กับการป้องกันแมลงน่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดี
"การพัฒนาสูตรยางพาราเพื่อการใช้ประโยชน์นั้นต้องใช้เวลานานกว่า 1 ปี เพื่อให้ได้สูตรที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการยึดติดวัสดุได้ดี ไม่ว่าจะเป็นพื้น ผนังหรือโต๊ะ โดยต้องกักเก็บและปลดปล่อยสารได้อย่างยาวนาน ที่สำคัญต้องมีความปลอดภัยต่อคนและได้นำน้ำมันหอมระเหยจากพืชที่เติมในยางแล้วกันมดได้ดีกว่า ซึ่งมีการทดลองนำน้ำมันกะเพรา พริกไทยดำ ตะไคร้หอม กานพลูและโหระพา พบว่า น้ำมันหอมระเหยบางชนิดมีฤทธิ์แค่เดือนเดียวเพราะน้ำมันหอมระเหยแต่ละอย่างมีโมเลกุลไม่เหมือนกัน การสลายตัวแตกต่างกัน แล้วก็พบสูตรที่ดีมากๆ คือ มีประสิทธิภาพกันมดได้ดีและอยู่ได้นานถึง 3 เดือน"
ในช่วงแรกของการพัฒนา ได้ทดลองทำเป็นแบบเทปกาว แผ่นบางๆ เป็นม้วน แต่เมื่อนำไปทดสอบพบว่าแห้งเร็วไป และสารอยู่ได้ไม่นาน เพราะแถบกาวบาง จึงมีการเปลี่ยนมาผสมสูตรยางที่ลักษณะคล้ายดินน้ำมัน เพียงแต่ทำมาจากยางพารา มีความเหนียว เกาะติดวัสดุได้ดี ปั้นเป็นรูปทรงได้ ไม่ว่าจะเป็นก้อนหรือนำมาพันรอบภาชนะ หรือแม้กระทั่งพันขาโต๊ะเพื่อความสะดวกในการใช้งานหลายรูปแบบ
“จากการทดลองกับมดน้ำตาลซึ่งเป็นมดที่เจอบ่อยในบ้านถ้ามีเศษอาหารร่วงพื้นก็จะมากินเร็วมาก ทดสอบโดยเอาอาหารวางไว้สองจุด จุดหนึ่งล้อมด้วยยางที่เราเติมสมุนไพร ส่วนอีกจุดล้อมด้วยยางที่ไม่ผสมอะไร ประมาณ 5 - 10 นาที ในล้อมยางที่ไม่ใส่สารจะมีมดมารุมกินอาหาร ส่วนที่ล้อมด้วยยางที่ผสมน้ำมันหอมระเหย ไม่มีมดเข้ามากินอาหารแม้แต่น้อย ซึ่งได้ทำการทดสอบเดือนละครั้ง ทิ้งไว้นาน 3 เดือนก็ยังคงมีประสิทธิภาพ” ผศ.นริศ กล่าว
ทั้งนี้ หลังจากได้ต้นแบบและคิดว่ากระบวนการทั้งหมดสมบูรณ์แล้ว จากนั้นจะนำไปสู่การพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ง่ายต่อการจัดเก็บในที่แห้งและเย็นเพื่อรักษาสภาพ รวมถึงสร้างการรับรู้ในการใช้งานให้แก่ผู้บริโภค ขณะเดียวกันปัจจุบันอยู่ระหว่างการต่อยอดพัฒนาเป็นแบบเหลวแล้วใส่กระบอกฉีดเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น