องค์กรทุนกางแผน สร้าง ‘ธุรกิจนวัตกรรม’
3องค์กรทุนวิจัยเปิดโมเดลภารกิจขับเคลื่อน“ธุรกิจนวัตกรรม”เผยออกแบบกลไกใหม่บริหารงานเชิงธุรกิจมุ่งความคล่องตัว ช่วยเข้าถึงแหล่งเงินทุน บริการปรึกษาด้านเทคโนโลยีและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หนุนศักยภาพผู้ประกอบการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
ภานุทัต ธรรมบุศย์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทางการเงินเพื่อนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวระหว่างการสัมมนาออนไลน์ Business Tips For SMEs #6 เรื่อง “การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและนวัตกรรม” จัดโดยสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่า สวทช.ดูแลบริการทางการเงินเพื่อวิจัยนวัตกรรมสามารถแบ่งได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กองทุนสนับสนุนเพื่อเร่งการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (Research Gap Fund)
กลไกเข้าถึงทุนวิจัย-ดอกเบี้ยต่ำ
กองทุนนี้จะให้การสนับสนุน 75% แต่ไม่เกิน 800,000 บาทสำหรับธุรกิจดิจิทัล (มุ่งเป้าบีซีจี) และไม่เกิน 1.5 ล้านบาทสำหรับธุรกิจเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์อื่นๆ พร้อมด้วยมาตรการช่วยเหลือด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1% ในระยะเวลา 7 ปี เกณฑ์เบื้องต้นมุ่งให้การสนับสนุนผู้ประกอบการจับคู่ผลงานวิจัยของหน่วยงานรัฐหรือสถาบันวิจัยไปพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ (แมชชิ่งฟันด์) รวมถึงการทำวิจัยพัฒนากระบวนการผลิตหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ นอกจากนี้จะมีกลไกใหม่ที่เรียกว่า NSTDA Holding คาดว่าจะจดทะเบียนภายใน ส.ค.นี้ มุ่งลงทุนในกลุ่มดีพเทคสตาร์ทอัพ หรือเทคเอสเอ็มอี
แหล่งทุนถัดมาอยู่ในรูปแบบกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในเอสเอ็มอี (PE Trust Fund) วงเงินรวม 2,300 ล้านบาท สนับสนุนการขยายกิจการหรือเงินทุนเพิ่มเติมให้กับเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ พร้อมที่ปรึกษาด้านการเงินการลงทุน เพื่อเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
2.ด้านภาษี รับรองงานวิจัยและพัฒนาเพื่อยื่นขอยกเว้นหรือหักภาษีได้ 3 เท่า เป็นการกระตุ้นการวิจัยภาคเอกชน ส่วนการรับรองธุรกิจเทคโนโลยี เป็นกลไกการยกเว้นภาษีจากการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี และการรับรองเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะใช้ประกอบการยื่นขอสิทธิจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่วนการบริจาคให้กับกองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวทช. (STI / RDI) ผู้ประกอบการสามารถขอขยายสิทธิบีโอไอเพิ่มเติมได้สูงสุด 3 ปี ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
3.ด้านรายได้จากตลาดภาครัฐในรูปแบบบัญชีนวัตกรรมไทย โดยใช้กลไกตลาดภาครัฐผ่านการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง จะทำให้ผลงานนวัตกรรมของคนไทยสามารถเข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น
สร้างแพลตฟอร์มปั้นสตาร์ทอัพ
นิมิต นิพัทธ์ธรรมกุล ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) กล่าวว่า ในอดีตเอ็นไอเอจะเป็นการให้ทุนเพียงอย่างเดียว กระทั่งมีการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้ปรับแผนงานและแนวทางสนับสนุนให้สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบัน และเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการสนับสนุนในกลุ่มผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพผ่านการพัฒนากลไกใหม่ๆ เพื่อที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยได้พัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมาคือ Groom Grant Growth ตั้งเป้ายกระดับศักยภาพผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพไทยทั้งในธุรกิจนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจและสังคม พร้อมเดินหน้าเร่งสร้างศักยภาพเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพไทยผ่านการบ่มเพาะ เงินทุนอุดหนุน และโอกาสการต่อยอดทางธุรกิจนวัตกรรม
Groom คือ การพัฒนารูปแบบการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพที่จะเข้ามาขอรับการสนับสนุนจะต้องผ่านการอบรมบ่มเพาะในโปรแกรมนวัตกรรม เพื่อเรียนรู้และเข้าใจมุมมองด้านนวัตกรรมพร้อมเทคนิคแนวทางการเขียนข้อเสนอโครงการนวัตกรรม Grant คือการขอรับการสนับสนุนด้านเงินทุน แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ธุรกิจนวัตกรรมมุ่งเป้าและธุรกิจนวัตกรรมแบบเปิด และสุดท้าย Growth คือ ผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการขยายผล จะส่งต่อผ่านเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ
ด้าน ธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองประเมินผลและจัดการความรู้การวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช.สนับสนุนทุนวิจัยทั้งต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อพัฒนาต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ หรือแม้กระทั่งการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการเสริมสร้างอาชีพภายในชุมชน ทั้งยังมีหน้าที่สนับสนุนการขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย ซึ่งจะผลักดันให้งานวิจัยต่างๆ จากหน่วยสถาบันการศึกษาและอื่นๆ สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์