เอ็นไอเอดึง ‘พลังหญิง’ ไอที ไลฟ์ดันยอดขายสตาร์ทอัพ
เนื่องในวันแม่แห่งชาติ เอ็นไอเอดึง "3 อินฟลูเอนเซอร์หญิง" แห่งวงการไอที เปิดช่องทางการตลาดใหม่ ช่วยสตาร์ทอัพไทยโปรโมทสินค้าและบริการผ่านสังคมออนไลน์ เผย 1 ในมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาสตาร์ทอัพที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19
กิจกรรมครั้งนี้ต่อเนื่องจากก่อนหน้า ที่เอ็นไอเอประกาศเปิดพื้นที่ “สตาร์ทอัพไทยแลนด์มาร์เก็ตเพลส : Startup Thailand Marketplace” ตลาดสินค้าและบริการสำหรับสตาร์ทอัพไทยในช่วงวิกฤติโรคระบาด โดยได้เชิญชวนสตาร์ทอัพที่ต้องการขายสินค้าหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์ใหม่ รับสิทธิโปรโมทสินค้าและบริการฟรีผ่านการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบคอนเทนต์ บทความ หรือเนื้อหาการโฆษณาในเพจเฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ของ Startup Thailand ซึ่งมีการติดตาม 2 แสนกว่าแอคเคาท์
ดึง 3 สาวไอทีร่วมโปรโมท
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิค-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมไปทั่วโลก เอ็นไอเอในฐานะหน่วยงานหลักที่ส่งเสริมและพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพของประเทศไทย จึงได้เร่งหามาตรการเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาสตาร์ทอัพที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ โดยหนึ่งในนั้นคือการสร้างช่องทางการตลาดใหม่ เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ และกระตุ้นให้เกิดการเข้าถึงสินค้าและบริการของสตาร์ทอัพทั้งกลุ่มลูกค้าที่เป็น B2B และ B2C
Startup Thailand Marketplace คือ พื้นที่ใหม่ที่สร้างขึ้น เพื่อช่วยโปรโมทสินค้าและบริการของสตาร์ทอัพผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของ Startup Thailand และสื่อออนไลน์อื่นๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีอีก 3 อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังในวงการไอทีเมืองไทยที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้แก่ เฟื่องลดา-สรานี, เอิ้น-ปานระพี และซี-ฉัตรปวีร์ กับรายการ Startup Marketplace is Live Now ในรูปแบบไลฟ์สดทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เวลา 18.00-19.00 น. รวม 24 ตอน ออนแอร์วันแรก 14 ส.ค.นี้
รูปแบบรายการจะเป็นการพูดคุยกับสตาร์ทอัพที่เป็นแขกรับเชิญ ซึ่งจะมาพร้อมสินค้าและบริการที่น่าสนใจและหลากหลาย รวมถึงเจาะประเด็นที่น่าดึงดูดและเป็นประโยชน์แก่ผู้ชม โดยสามารถรับชมไลฟ์สดหรือย้อนหลังได้ที่เพจ Startup Thailand และทางเพจของทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ เพจ LDA ลดา-Ladies of Digital Age, เพจ IT24Hrs-ไอที 24 ชั่วโมง by ปานระพี และเพจ Ceemeagain ซี ฉัตรปวีร์
“รายการนี้เหมาะกับทุกคน ทั้งสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการ นักลงทุน หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไป เพราะเรามีทั้งสินค้า แอพพลิเคชั่นและแพลตฟอร์มของสตาร์ทอัพไทยที่ช่วยตอบโจทย์ทุกคนในยุคนิวนอร์มอลนี้ เช่น แพลตฟอร์มช่วยหางาน แอพพลิเคชั่นให้คำปรึกษา หลักสูตรเรียนฟรีทางออนไลน์ ระบบบริหารการเงิน การลงทุนที่ช่วยให้ทุกองค์กรปรับตัวได้อย่างชาญฉลาด ตัวช่วยขายของทางออนไลน์ เป็นต้น”
‘โฮมอีโคโนมี่’จุดความหวัง
พันธุ์อาจ กล่าวอีกว่า วิกฤติโควิดส่งสัญญาณเตือน 2 ประเด็นที่คนไทยอาจจะลืมไปแล้ว คือ เศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ ที่มีสัดส่วนตลาดในประเทศแค่ 20% จีดีพีสัดส่วนแบบนี้ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปราะบางมาก
ฉะนั้น การกระตุ้น “โฮมอีโคโนมี่” ผ่านช่องทางมาร์เก็ตเพลซสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะแค่ช่วงล็อกดาวน์อย่างเดียว ก่อนหน้านั้นก็มีผู้ประกอบการเริ่มทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งและสามารถทำแพลตฟอร์มต่างๆ ได้มากขึ้น
สตาร์ทอัพไม่ใช่กลุ่มเดียวที่ได้ประโยชน์จากตลาดออนไลน์ แต่ยังรวมถึงเกษตรกร ชุมชน ที่สามาถขายของออนไลน์ แต่การขายของออนไลน์เป็นเพียงสิ่งที่งอกจากใต้ผิวน้ำ ขณะที่ข้างล่างมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจอีกมาก เช่น หากไทยไม่เพิ่มสัดส่วนการเติบโตของโฮมอีโคโนมี่ก็จะลำบาก เพราะแวลูเชนหลักจากการส่งออกจะเริ่มหายไป จากรถยนต์สันดาปภายในก็เปลี่ยนรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งแวลูเชนไม่ได้อยู่ในเมืองไทย ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่ใช่ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ แต่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยก็ไม่ใช่เจ้าของหรือซัพพลายเชนใหญ่
หากมาร์เก็ตเพลซเพิ่มสัดส่วนจาก 20% เป็น 40% จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยที่มีกำลังซื้อในช่วงนี้เกิดการทำทรานแซคชั่นได้ เชื่อว่าจะเป็นตัวตอบคำถามในไตรมาส 3 และ 4 จึงถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมระยะสั้น
“ตอนนี้สตาร์ทอัพต้องการมาร์เก็ตเพลสเพิ่มด้านสินเชื่อ เอ็นไอเอก็มีตลาดสินเชื่อผ่านธนาคาร 7 แห่งที่ได้เอ็มโอยูด้วย ฉะนั้น ทั้งตลาดนวัตกรรมและสินเชื่อนวัตกรรมก็มีครบ แต่เราดูแลได้เฉพาะส่วนที่มีความสามารถเติบโตได้ในอนาคต” พันธุ์อาจ กล่าว