เภสัชฯศิลปากร ดึงจุดเด่นสมาร์ทโฟน สร้างต้นแบบ 'วิเคราะห์ยา'
คณะเภสัชฯศิลปากร ต่อยอดการใช้งานสมาร์ทโฟนวิเคราะห์ยาในแล็บ ทดแทนเครื่องมือราคาแพง สามารถบ่งบอกปริมาณยาที่แท้จริงในผลิตภัณฑ์ ระบุลดเสี่ยงผิดพลาดจากการวิเคราะห์ด้วยสายตา ชี้แนวโน้มเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยยกระดับค้นคว้าวิจัยและผลิตยาให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว
สมาร์ทโฟนวิเคราะห์ยา
ปัญหาความซับซ้อนการวิจัยพัฒนายาใหม่ ต้องผ่านกระบวนการศึกษาและทดสอบมากมาย ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ราคาแพง อาศัยความชำนาญในการใช้งานและยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้บางครั้งการวิเคราะห์ยายังทำในสเกลขนาดใหญ่ ทำให้ต้องใช้สารเคมีและก่อให้เกิดของเสียขึ้นในปริมาณมาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศึกษาวิจัยเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการวิเคราะห์ยาให้ทำได้ง่าย รวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ มีค่าใช้จ่ายน้อยลงและทันสมัยมากขึ้น โดยการนำสมาร์ทโฟนมาใช้แทนเครื่องมือวิเคราะห์ราคาแพง
โครงการวิจัย “ปรับเปลี่ยนการวิเคราะห์ยาให้ทันสมัยโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล” ได้นำจุดเด่นของสมาร์ทโฟนที่มีความสามารถในการทำงานที่หลากหลายและความสะดวกในการใช้งาน มาประยุกต์ใช้ในขั้นตอนการวิเคราะห์ยา โดยการถ่ายภาพเพื่อบันทึกสีของตัวอย่างยาที่ทำการวิเคราะห์หลังจากทำปฏิกิริยาเคมี รวมถึงใช้ประมวลผลความเข้มของสีที่บันทึกได้ออกมาเป็นค่าตัวเลข ซึ่งสามารถบ่งบอกได้ถึงปริมาณยาที่แท้จริงในผลิตภัณฑ์
รศ.ธีรศักดิ์ โรจนราธา หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ทีมวิจัยได้รับสนับสนุนอุปกรณ์สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตจากบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ใช้ในโครงการวิจัยปรับปรุงวิธีวิเคราะห์ยาหลายเทคนิค และหนึ่งในนั้นคือวิธีไทเทรชัน โดยนำสมาร์ทโฟนเข้ามาช่วยในการถ่ายภาพสารละลาย วัดสัญญาณของการวิเคราะห์ในรูปค่าสี Red-Green-Blue (RGB) และคำนวณผลการวิเคราะห์ กระทั่งได้วิธีใหม่สำหรับวิเคราะห์หาปริมาณยาในเภสัชภัณฑ์โดยใช้สมาร์ทโฟน และเป็นต้นแบบในการนำไปปรับใช้กับการวิเคราะห์ยาชนิดอื่นๆ ได้ในอนาคต
วิธีการดังกล่าวนี้ใช้งานได้ไม่ยาก นักวิเคราะห์ยาสามารถดำเนินการได้เองในห้องปฏิบัติการผ่านสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว แทนการสังเกตสีที่เปลี่ยนไปด้วยตา หรือใช้การวัดค่าการดูดกลืนแสงโดยอาศัยเครื่องมือราคาแพง อีกทั้งสามารถวิเคราะห์ยาได้หลายตัวอย่างพร้อมกันจากภาพถ่ายเดียว และยังทำให้การวิเคราะห์สามารถทำได้ในสเกลที่มีขนาดเล็กลง จึงลดการใช้สารเคมีและการเกิดของเสีย เพิ่มความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือ ได้ผลการวิเคราะห์ที่ถูกต้องแม่นยำ ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายน้อยลงหลายเท่าตัว
คณะผู้วิจัยยังได้ริเริ่มแผนการวิจัยโดยออกแบบและพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน สำหรับคำนวณและรายงานผลการวิเคราะห์ในรูปแบบไฟล์หรือเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้เครื่องมือของกูเกิล รวมทั้งสามารถแชร์ไฟล์ เพื่อความสะดวกในการบันทึกข้อมูล พร้อมเรียกใช้ได้ผ่านสมาร์ทดีไวซ์อื่นๆ โดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านเวลาและสถานที่
ดังนั้น นักวิเคราะห์จึงสามารถทำงานทั้งกระบวนการได้แล้วเสร็จบนสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว อีกทั้งถือเป็นการส่งเสริมการเป็นห้องปฏิบัติการแบบดิจิทัล ซึ่งลดการใช้กระดาษอีกด้วย
เทคโนฯดิจิทัลวิเคราะห์ยา
วาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า งานวิจัยของ ม.ศิลปากร ถือเป็นการริเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อทดแทนกระบวนการเดิมในการวิเคราะห์ยา โดยใช้สมาร์ทโฟนของซัมซุงเป็นส่วนหนึ่งในพัฒนาการสำคัญของอุตสาหกรรมยาในครั้งนี้ พร้อมทั้งสามารถส่งเสริมให้นักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์มีทักษะความเข้าใจและนำเทคโนโลยีที่มีอยู่ไปประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์กระบวนการทำงานใหม่ๆ ต่อไปในอนาคต
การศึกษาวิจัยนี้จะเป็นตัวอย่างสำคัญของงานวิจัย ที่นำเทคโนโลยีใกล้ตัวและสามารถใช้งานได้ไม่ยุ่งยาก มาช่วยปรับปรุงกระบวนการวิเคราะห์ยาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังสามารถนำไปใช้ในการควบคุมคุณภาพเภสัชภัณฑ์ในโรงงานผลิตยา รวมถึงสร้างแนวคิดที่จะนำไปปรับใช้สำหรับยาหลากหลายชนิดต่อไป
ผลจากการดำเนินการบางส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาวิธีวิเคราะห์ยาแนวใหม่ร่วมกับการใช้สมาร์ทโฟน ถือเป็นเรื่องใหม่ที่สร้างความน่าสนใจให้แก่วงการเภสัชฯ ทำให้ผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติด้านเภสัชศาสตร์และเคมีวิเคราะห์ สุดท้ายแล้วโครงการนี้จะช่วยสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะความเข้าใจและรู้จักนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างเหมาะสมต่อไปในอนาคต