‘ลาซาด้า’ ปรับโฉม ‘ลาซมอลล์’ ผุด ‘ป๊อปอัพสโตร์’ แห่งแรกกลางกรุง
ปรับใหญ่ฟีเจอร์ เพิ่มสินค้าพรีเมียม พร้อมเปิดตัวป๊อปอัพสโตร์ “Lazada On Ground” แห่งแรกในไทย ชูคอนเซ็ปต์ “นิวรีเทล” เชื่อมโลกออฟไลน์-ออนไลน์ ไม่หวั่นตลาดแข่งเดือด เดินหน้าสนับสนุนผู้ค้า แบรนด์ โหมหนักโปรโมชั่น ชิงอีคอมเมิร์ซโค้งสุดท้าย
นายแจ็ค จาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปรับโฉมห้างสรรพสินค้าเสมือนจริง “ลาซมอลล์ (LazMall)” ครั้งใหญ่ ทั้งหน้าอินเทอร์เฟซ รวมถึงแนวทางการนำเสนอสินค้าที่จะเพิ่มแบรนด์พรีเมียมให้มีความหลากหลายมากขึ้น
พร้อมกันนี้ เปิดตัวป๊อปอัพสโตร์ “Lazada On Ground” แห่งแรกในประเทศไทย ที่ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ เพื่อเป็นสถานที่สำหรับจัดแสดงสินค้าของแบรนด์ชั้นนำบนลาซมอลล์ มากกว่า 40 แบรนด์ ในคอนเซ็ปต์นิวรีเทล
ป๊อปอัพสโตร์จะเปิดให้บริการที่ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์จนถึงเดือนม.ค. 2564 เน้นนำเสนอประสบการณ์ความบันเทิงผ่านกลยุทธ์ช้อปเปอร์เทนเมนท์ พร้อมด้วยไลฟ์สตรีมมิ่งบนฟีเจอร์ลาซไลฟ์ (LazLive) ในแอพลาซาด้า
เขากล่าวว่า กลยุทธ์การพัฒนาลาซมอลล์มุ่งสนับสนุนทั้งผู้ค้า แบรนด์ ผู้ซื้อ รวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจ โดยจะมีการนำองค์ความรู้ และนวัตกรรมเทคโนโลยีในเครืออาลีบาบามาปรับใช้ ภายใต้เป้าหมายที่ไม่ใช่แค่การเพิ่มมูลค่าการซื้อขาย(จีเอ็มวี) แต่ต้องการผลักดันให้เกิดการเติบโตได้อย่างยั่งยืน ลาซาด้ายืนยันว่ามีแผนเข้ามาพัฒนาธุรกิจในตลาดประเทศไทยในระยะยาวและต่อเนื่อง
สำหรับการเติบโตของลาซมอลล์ในประเทศไทย เดือนมิ.ย.ปีนี้เทียบกับปีที่ผ่านมา ยอดขายสินค้าเติบโต 160% จำนวนคำสั่งซื้อ 130% จำนวนแบรนด์ 600%
ขณะที่จำนวนผู้ซื้อเติบโต 110% โดยหนึ่งในความสำเร็จที่สำคัญคือ “พรีเมียม บิวตี้ มอลล์” ซึ่งมีแบรนด์ความงามระดับพรีเมียมมากกว่า 40 แบรนด์ และกว่า 80% ของจำนวนแบรนด์ทั้งหมดเป็นคู่ค้าแบบเอ็กซ์คลูซีฟกับลาซาด้าเท่านั้น
ปัจจุบัน มีแบรนด์ดีไซน์เนอร์ไทยชั้นนำกว่า 50 แบรนด์ เข้าร่วมบนแพลตฟอร์ม ภายใต้ “Thai Designer Club” ของลาซมอลล์ หลายๆ แบรนด์สามารถประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น ด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 200 เท่า
เจอของปลอมคืนเงิน5เท่า
นางสาวธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจ บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวว่า ลาซมอลล์มีจุดเด่นที่การรับประกันสินค้าแบรนด์ของแท้ หากผู้บริโภคพบสินค้าปลอมทางลาซาด้ายินดีคืนเงินให้เป็นจำนวน 5 เท่าของราคาสินค้า
นอกจากนี้ มีฟีเจอร์ที่ได้รับการพัฒนาเพิ่มเติม ได้แก่ ฟังก์ชั่นการออกแบบดีไซน์และนำเสนอสินค้า ร้านค้าพิเศษ และหน้าร้านที่สร้างขึ้นมาสำหรับแต่ละแบรนด์โดยเฉพาะ ทั้งยังสามารถเข้าถึงโซลูชั่นการจัดการข้อมูล (data solutions) โซลูชั่นสำหรับธุรกิจต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ที่ครบวงจร
“กลยุทธ์ของเราเน้นการพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า ผู้ค้า ทั้งจะมีการเพิ่มงบการตลาดเป็นพิเศษสำหรับลาซมอลล์โดยเฉพาะ ด้วยมองว่าเป็นธุรกิจเชิงกลยุทธ์ที่จะมีการผลักดันให้เติบโตมากขึ้น และพิเศษสำหรับผู้ค้ารายใหม่และดาวรุ่ง 300 กว่าราย จะมีการสนับสนุนด้านการตลาดที่จะเพิ่มทราฟฟิกให้เป็นพิเศษด้วย”
ปัจจุบันในไทยมีแบรนด์อยู่บนลาซมอลล์กว่า 6 พันแบรนด์ ออฟฟิเชียลสโตร์ 2 พันร้าน ช่วง 2-3 เดือนระหว่างวิกฤติโควิดจำนวนแบรนด์เพิ่มขึ้นกว่า 600 แบรนด์ หรือ 3 เท่าจะช่วงเวลาปกติ สิ้นปีนี้ตั้งเป้าไว้ว่าจำนวนของสินค้าที่วางขายบนลาซมอลล์จะเติบโตเพิ่มขึ้น 2 เท่า
กระหน่ำโปรกระตุ้นกำลังซื้อ
เธอประเมินว่า การแข่งขันของมาร์เก็ตเพลสจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ผู้เล่นต้องแข่งกันด้วยความเข้าใจลูกค้า มีการนำดาต้ามาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ แคมเปญโปรโมชั่นต้องตรงใจ ซึ่งลาซาด้าเองจะทำอย่างเต็มที่ในทุกมหกรรมชอปปิงออนไลน์ทุกเดือน
ปัจจุบัน อีคอมเมิร์ซมีสัดส่วนเพียง 3% ของภาพรวมค้าปลีก ฉะนั้นโอกาสเติบโตยังมีอยู่สูงมาก แน่นอนว่าจะได้เห็นผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาอยู่แล้ว และลาซาด้าชอบการแข่งขันเพื่อว่าจะได้ปรับตัว พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น และท้ายที่สุดจะส่งผลดีต่อทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
สำหรับสภาวะเศรษฐกิจที่อาจมีผลกระทบต่อกำลังซื้อ ที่จะเห็นได้ชัดเจนคือรูปแบบออฟไลน์ ส่วนออนไลน์ยังคงเห็นเทรนด์การเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองคิดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร
จากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว ลาซาด้าได้เตรียมแผนรับมือไว้โดยการเพิ่มน้ำหนักการตลาดและการสนับสนุนผู้ค้าบนลาซมอลล์ พยายามทำให้ราคาขายต่ำลงเพื่อดึงกำลังซื้อ พัฒนาแพ็คเกจที่จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น บ่อยขึ้น ที่โฟกัสอย่างมากคือกลุ่มแฟชั่น โฮมแอนด์ลิฟฟิ่ง และอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน
สำหรับมาตรการการจัดการสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ทางลาซาด้ามีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่าต้องผ่านกฏเกณที่กำหนด และมีเครื่องมือที่จะตรวจสอบได้ หากพบว่าไม่ได้มาตรฐาน สินค้านั้นๆ ก็จะถูกเอาลงจากมาร์เก็ตเพลส และหากผู้ค้าทำผิดหลายครั้งก็จะถูกห้ามไม่ให้ขายสินค้าบนลาซาด้าอีกต่อไป
“เจ้าหน้าที่ของเราเข้าไปชี้แจงกับทางภาครัฐแล้ว เรามีอัลกอริทึมที่สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงจากที่มีการรายงานเข้ามา ในเคสที่มีการแจ้งเข้ามาก็จะแอคทีฟในทันที หรือว่าหากมีข้อร้องเรียนเข้ามามากขึ้นจากสินค้าที่มาจากบางประเทศก็จะมีการเพิ่มอัลกอริทึมในส่วนนั้นๆ ที่ผ่านมาหากพบเห็นเคสที่ซีเรียสก็จะการจัดตั้งทีมเฉพาะเพื่อจัดการทันที”
ตลาดไทยขึ้นแท่นเบอร์1ภูมิภาค
ลาซาด้าเผยว่า ปีที่ผ่านมา จำนวนคำสั่งซื้อบนลาซาด้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตกว่า 100% ผู้ใช้งานโตมากกว่า 100% รวมมีลูกค้ากว่า 70 ล้านคน จำนวนร้านค้าเติบโตกว่า 2 เท่า รวมมีจำนวนสินค้าวางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มกว่า 240 ล้านรายการ
นอกจากนี้ ที่น่าสนใจพบว่าลูกค้ากลุ่มพรีเมียมเป็นเซ็กเมนท์ที่มีศักยภาพการเติบโตสูงมาก เห็นได้จากมูลค่าการซื้อขายบน “พรีเมียม บิวตี้ มอลล์” ซึ่งเติบโตกว่า 540% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ด้านจำนวนผู้ซื้อโตกว่า 330%
ที่ผ่านมา การใช้จ่ายเฉลี่ยบนลาซมอลล์มีมูลค่ามากกว่าร้านค้าทั่วไป 3 เท่า เนื่องจากราคาเฉลี่ยสูงกว่า การซื้อซ้ำมีมากกว่า มีจุดต่างทั้งโปรโมชั่น คุณภาพสินค้า การให้บริการ และการจัดส่ง
อย่างไรก็ดี ช่วงวิกฤติโควิด-19 ผู้บริโภคใช้เวลาบนลาซาด้ามากขึ้น 30% สินค้ากลุ่มอาหารกระป๋องและอาหารสำเร็จรูปเติบโตมากถึง 3 เท่า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด 7 เท่า หม้อทอดไร้น้ำมัน 3 เท่า บ้านและไลฟ์สไตล์ 3 เท่า หลังโควิดพบว่าแบรนด์ยังต้องการเข้ามาอยู่บนออนไลน์มากขึ้น จากผู้พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ชอบที่จะจับจ่ายสินค้าจากที่บ้านมากขึ้น
ปัจจุบัน สัดส่วนลูกค้าของลาซาด้าอยู่ในกทม. 30-35% ที่เหลือกว่า 70% อยู่ต่างจังหวัด ฐานลูกค้าหลักเกินครึ่งอายุ 18-35 ปี รองลงมาคือ 35-45 ปี ปัจจุบันลาซาด้าไทยเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของลาซาด้าในระดับภูมิภาค สามารถทำยอดขายได้เป็นอันดับ 1 ทว่าโดยเฉลี่ยต่อคนยังเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์