มก.ต่อ ‘เรือโดยสารไฟฟ้า’ ฝ่าวิกฤติคลองแสนแสบ

มก.ต่อ ‘เรือโดยสารไฟฟ้า’ ฝ่าวิกฤติคลองแสนแสบ

เตรียมปิดฉากปัญหาเรือโดยสารคลองแสนแสบที่ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร ชุมชนที่อยู่ในเส้นทางเดินเรือทั้งคลื่นยักษ์ เครื่องยนต์เสียงดังและกลิ่นน้ำมัน โดย“เรือไฟฟ้าSS Green”จาก“โครงการจัดหาระบบเรือโดยสารไฟฟ้าต้นแบบในคลองแสนแสบเพื่อพลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

กระทรวงคมนาคมและกรมเจ้าท่าได้มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินโครงการฯ เมื่อปี 2562 เพื่อเป็นทางเลือกในการให้บริการภาคขนส่งมวลชนที่มีศักยภาพ ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลาการเดินทาง และส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

พลิกโฉมขนส่งทางน้ำ

รศ.ยอดชาย เตียเปิ้น หัวหน้าโครงการวิจัยผู้ออกแบบและพัฒนาเรือไฟฟ้า SS Green คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ ม.เกษตรฯ กล่าวว่า ทีมงานได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพแวดล้อมจริง เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการออกแบบเรือต้นแบบ นอกจากการพิจารณาค่าแรงต้านทานและลักษณะคลื่นที่เกิดจากตัวเรือแล้ว ยังนำข้อมูลทางด้านอื่นๆ พิจารณาประกอบการตัดสินใจ เช่น ความเหมาะสมการใช้งาน การประหยัดต้นทุนการผลิตและการบำรุงรักษา เพื่อจะได้เรือต้นแบบที่มีความเหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุด

159897748916

ด้าน ผศ.เกวลิน มะลิ คณะเศรษฐศาสตร์ศรีราชา กล่าวว่า โครงการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ต้นทุน แนวทางการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์และความคุ้มค่าที่นอกจากทางด้านตัวเงิน ยังมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่สามารถตีมูลค่าได้ เช่น การประหยัดจากการลดปริมาณการใช้น้ำมัน การลดการปล่อยค่าคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งสามารถคำนวณและแปลงเป็นมูลค่าซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิต

ผลการศึกษาเบื้องต้นระบุ 4 แนวทางการบริหารจัดการเพื่อนำเรือไฟฟ้าไปใช้ในคลองแสนแสบในเชิงพาณิชย์ ได้แก่ 1.เรือไฟฟ้ามีความคุ้มค่าที่จะนำไปใช้ให้บริการ ผู้โดยสารในเส้นทางแสนแสบสายใน (ประตูน้ำ-สะพานผ่านฟ้าลีลาศ) ภายใต้การกำหนดอัตราค่าโดยสาร 9 บาทต่อเที่ยว ระยะเวลาคืนทุน 5.7 ปี

2. ศักยภาพของเรือไฟฟ้าในการวิ่งระยะทางที่ใกล้ (สายใน) เส้นทางเดินเรือ 4 กิโลเมตร 14 เที่ยวต่อวัน ระยะทาง 16,800 กิโลเมตรต่อปี จึงควรพิจารณาใช้ประโยชน์จากเรือให้ได้เต็มศักยภาพมากที่สุด และ 3.การให้บริการเรือไฟฟ้าในเส้นทางแสนแสบสายนอก (วัดศรีบุญเรือง-ประตูน้ำ) เส้นทางเดินเรือ 14 กิโลเมตร 4 เที่ยวต่อวัน ระยะทาง 16,800 กิโลเมตรต่อปี หากกำหนดราคาที่ 19 บาทตลอดสายนั้นยังไม่คุ้มค่าในการลงทุน ดังนั้น ควรกำหนดอัตราขั้นต่ำการให้บริการ 26 บาทขึ้นไป หรือเพิ่มรอบการให้บริการเรือเพื่อให้เกิด Economy of scale

4.บริการเรือโดยสารไฟฟ้าในคลองแสนแสบเปรียบเทียบกับเรือในปัจจุบันแล้ว ในทางสาธารณประโยชน์จะช่วยลดมลพิษทั้งทางอากาศ เสียงและลดความเสียหายของสองฝั่งคลองจากคลื่น ทั้งยังเป็นการปรับภาพลักษณ์ที่ดีต่อผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว ดังนั้น รัฐบาลควรให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถนำเรือไฟฟ้าไปให้บริการในคลองแสนแสบได้ต่อไป

159897750849

ปูทางสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ส่วนผลประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ลดการใช้น้ำมันลง 29,400 ลิตร ประหยัดน้ำมันได้ 793,800 บาทต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 79,380 กิโลกรัมค่าคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อีกทั้งลดปัญหาการกัดเซาะตลิ่งเนื่องจากมีคลื่นที่ออกจากตัวเรือน้อย จึงสนับสนุนการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

“นอกจากประโยชน์ที่จับต้องได้ในตัวเงินแล้ว การตั้งราคาเหล่านี้จะส่งผลทางอ้อมต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเรือไฟฟ้ามีการประหยัดจากการไม่ใช้น้ำมัน และถึงแม้การผลิตใช้ไฟฟ้าจะใช้พลังงานจากฟอสซิล แต่เมื่อโดยเทียบกันแล้วไฟฟ้ายังคงเป็นพลังงานที่มิตรกับกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าการเผาไหม้คาร์บอนฯ โดยตรง” ผศ.เกวลิน กล่าว

159897752786

ผลประโยชน์ทางสังคม คือ เรือมีค่าการทรงตัวอยู่ในระดับดี มีการโคลงต่ำ จึงกิดความปลอดภัยต่อผู้โดยสาร ลดเสียงดังรบกวนที่เป็นอันตราย ลดเขม่าควันจากการเผาไหม้ ลดผลกระทบคลื่นสองฝั่งคลอง ข้อมูลสำหรับวิเคราะห์ความคุ้มค่าคือ อายุโครงการ 20 ปีเท่าอายุการใช้งานเรือและแบตเตอรี่ โดยโครงสร้างเป็นวัสดุอะลูมิเนียม แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ในขณะที่การซ่อมบำรุงต่ำหรือแทบจะไม่ต้องลงทุน replacement

ขณะที่ผลเสียที่อาจเกิดขึ้น คือ 1.ระยะทางที่ใช้เดินทางอาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากใช้เวลาออกตัวมากกว่าเรือโดยสารรูปแบบเดิม 2.เสียเวลาในการชาร์จแบตเตอรี่และต้องสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า 3.ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ตามอายุการใช้งานอาจก่อให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามมา ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อแก้ไขตรงจุดนี้

“เราติดตั้งจุดชาร์จไฟนำร่องแล้วบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ได้รวมอยู่ในโครงการจัดหาระบบเรือโดยสารไฟฟ้าฯ แต่การดำเนินการติดตั้งจุดชาร์จไฟฟ้าหลังจากนี้ จะเป็นฝ่ายอื่นที่จะต้องหาจุดที่เหมาะสมดำเนินการและลงทุนต่อไป โดยต้นทุนการก่อสร้างจุดชาร์จไฟประมาณ 1 ล้านบาทต่อจุด”

ลุ้นปี 64 ปล่อยลง‘แสนแสบ’

SS Green ผ่านการทดสอบปัจจุบันถือว่าสมบูรณ์แล้ว 80% แต่ติดเรื่องการควบคุมเรือที่คนขับยังเคยชินกับการขับเรือแบบเดิม ซึ่งจะต้องทำการทดสอบเพื่อให้ทุกอย่างนิ่งจึงค่อยเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ และจะต้องได้รับการพิจารณาจากกรมเจ้าท่าถึงจุดให้บริการที่เหมาะสม 

ทั้งนี้ เมื่อต้น ส.ค.ที่ผ่านมา กรมเจ้าท่า พร้อมด้วยที่ปรึกษาโครงการ ม.เกษตรฯ ผู้บริหารบริษัท เบต้า เอ็นเนอร์ยี่โซลูชั่น จำกัด และบริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด ได้ทดสอบการเดินเรือไฟฟ้าต้นแบบในคลองแสนแสบเสมือนจริง เส้นทางท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศ-ท่าเรือประตูน้ำ รวมระยะทาง 4 กิโลเมตรใช้เวลาเดินทาง 20 นาที โดยได้ทดลองวิ่งและรับผู้โดยสารเพื่อทดสอบระบบการควบคุมเรือและประสิทธิภาพของเรือ มีผู้โดยสารที่เข้าร่วมทดสอบ 92 คน

159897754319

จากการทดสอบพบว่า เรือไฟฟ้าฯ สามารถทำความเร็วได้ดี 22 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่มีมลพิษทางเสียง อย่างไรก็ตาม จะดำเนินการทดสอบและปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยของกรมเจ้าท่า และเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยในการโดยสารเรือในคลองแสนแสบต่อไป

ส่วนการต่อเรือไฟฟ้านั้นจะต้องเสร็จนำร่อง 5 ลำก่อนสิ้นปีนี้ คู่ขนานไปกับการทดสอบระบบของเรือให้คงที่และมีความปลอดภัย 100% คาดว่าประมาณกลางปี 2564 ประชาชนจะได้ใช้บริการ นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยยังได้เตรียมเปิดตัวเรือลำที่ 4 ด้วยเช่นกัน โดยจะเป็นเรือไฟฟ้าขนาดใหญ่สำหรับใช้ในแม่น้ำเจ้าพระยา

159897756237