มจธ.เผย 8 ขั้นตอนมาตรฐานทำ'แหล่งน้ำใต้ดิน'ไม่สูญ
นักวิชาการ มจธ. แนะใช้มาตรฐาน AGS วิเคราะห์และตรวจสอบศักยภาพของแหล่งน้ำใต้ดินก่อนทำธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อให้การใช้งบประมาณไม่สูญเปล่า เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
โครงการการบริหารจัดการน้ำใต้ดิน หรือธนาคารน้ำใต้ดิน ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่วงสามปีที่ผ่านมา โดยการริเริ่มของพระนิเทศศาสนคุณ (หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ) ที่นำเอาแนวคิดการเก็บน้ำไว้ใต้ดินจากสหรัฐอเมริกามาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มักมีปัญหาน้ำท่วมหนักในฤดูฝนและแล้งมากในฤดูร้อน หลักการคือการเติมน้ำลงไปเก็บไว้ใต้ดินและนำออกมาใช้ได้เมื่อยามต้องการ ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้องค์ความรู้ในด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) โดยเข้าไปมีส่วนช่วยในโครงการ ซึ่งนับเป็นปีที่สามแล้ว
ดร.ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO) และอาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ส่วนที่ มจธ. รับผิดชอบ คือการนำเอาความรู้เชิงวิชาการสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และการแปลภาพถ่ายดาวเทียมเข้ามาสนับสนุน เพื่อรวบรวมข้อมูลหาพื้นที่ในการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินเนื่องจากในแต่ละพื้นที่นั้นมีลักษณะชั้นดินและหินอุ้มน้ำแตกต่างกัน โดยตั้งแต่เริ่มต้นดำเนินการในปี พ.ศ. 2560 มีพื้นที่ต้นแบบที่ร่วมดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ ตำบลบ้านผึ้ง จังหวัดนครพนม ตำบลวังหามแห จังหวัดกำแพงเพชร ตำบลหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท และตำบลเชียงเครือ จังหวัดสกลนคร โดยเฉพาะตำบลบ้านผึ้ง ถือเป็นโมเดลของการบริหารจัดการน้ำใต้ดินที่ยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในท้องถิ่น ชาวบ้านมีน้ำดื่มน้ำใช้ตลอดปี จนกลายเป็นต้นแบบให้ท้องถิ่นหลายแห่งเข้าเยี่ยมชมศึกษาและนำไปเป็นโมเดลแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ของตนเอง
ธนาคารน้ำใต้ดินที่ อบต.บ้านผึ้ง เป็นความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งจากภาครัฐและองค์กรเอกชน เช่น มจธ. ทีมงาน AGS และมูลนิธิพลังงานที่ยั่งยืนของ ปตท.ที่สนับสนุนเงินทุนในการทำวิจัย และเป็นที่ศึกษาดูงานต้นแบบเพื่อสร้างความร่วมมือกับ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และสำนักงานทรัพยากรน้ำ โดยมีการสำรวจจุดที่จะขุดบ่อระบบเปิด ทั้งหมด 18 บ่อในพื้นที่เป้าหมายที่มีปัญหาน้ำแล้ง หลังจากขุดไป 1 ปี ทำให้พื้นที่ในตำบลบ้านผึ้งและตำบลข้างเคียงมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ น้ำไม่เค็ม ไม่กร่อย ไม่เป็นสนิม นอกจากนี้เมื่อเกิดน้ำท่วมจากปกติต้องใช้เวลา 6-7 วันกว่าน้ำจะลดลง ทำให้พืชผลเสียหาย หลังจากทำบ่อกักเก็บน้ำ น้ำก็ลดระดับลงเร็วขึ้นไม่เกิน 2 วัน ทำให้ อบต.บ้านผึ้ง ไม่ต้องนำงบประมาณลงไปชดเชยให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยในอบต.บ้านผึ้ง มีการทำบ่อทั้งระบบเปิดและระบบปิด
ดร.ปริเวท กล่าวต่อว่า หลักการทำธนาคารน้ำใต้ดินแบ่งออกเป็นสองแบบ คือ การทำเป็นบ่อแบบระบบปิดและแบบบ่อเติมน้ำระบบเปิด ขึ้นอยู่กับพื้นที่และวัตถุประสงค์ในการใช้งาน โดยการทำบ่อแบบระบบปิดนั้นจะมีขนาดเล็กเหมาะสำหรับการใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมขังระดับครัวเรือน อุปกรณ์การทำหาได้ง่าย โดยขุดดินที่ความลึกประมาณ 2 เมตร และใช้หินหรือประยุกต์วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม งบประมาณนั้นจะอยู่ที่หลักพันบาท
"ระยะเริ่มแรกก็จะเห็นว่ามีการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาง่ายใช้ในบ่อเนื่องจากชาวบ้านขาดงบประมาณ เช่น ขวดน้ำพลาสติก ยางรถยนต์เก่า เป็นต้น แต่ภายหลังเริ่มมีงบประมาณจาก อบต. จากหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาและมีการพัฒนาระบบโดยใช้หิน และวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในเวลาต่อมา" ดร.ปริเวท กล่าว
บ่อระบบเปิดจะใช้พื้นที่มากกว่า แก้ปัญหาได้ในวงกว้าง โดยจะขุดเจาะหน้าดินให้ทะลุชั้นดินเหนียวและลึกลงไปถึงชั้นหินอุ้มน้ำ ขุดเป็นรูปทรงหรือขนาดที่เหมาะสมกับพื้นที่ หรืออาจจะเป็นการปรับปรุงบ่อเก่าโดยการขุดเป็นสะดือบ่อให้ลึกลงไปก็ได้เช่นกัน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะต้องขุดให้ลึก ผ่านชั้นดินเหนียวโดยเฉลี่ย 7 - 10 เมตร ถึงจะถึงชั้นหินอุ้มน้ำ นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญ คือการขุดบ่ออื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อให้มีการเชื่อมโยงของระบบการไหลซึมของน้ำใต้ดิน น้ำจึงจะสามารถแพร่ไปตามชั้นหินใต้ดินได้ในช่วงฤดูฝนที่มักมีน้ำหลากและท่วมขัง โดยงบประมาณในการทำจะอยู่ที่ประมาณ 400,000 – 500,000 บาทต่อบ่อ ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่
ถ้าเก็บน้ำโดยกระบวนการเติมน้ำสู่ชั้นน้ำใต้ดิน น้ำสามารถกระจายภายในชั้นหินอุ้มน้ำและซึมผ่านไปสู่บ่ออื่น ๆ ที่อยู่ข้างเคียงกันได้ น้ำจะค่อยๆซึมไปขึ้นอยู่กับอัตราการซึมผ่านของชั้นหินอุ้มน้ำนั้นๆ โดยต้องขุดก่อนบ่อฤดูฝนเพื่อใช้เติมน้ำและกักเก็บน้ำไว้ใช้ ทั้งนี้ปริมาณน้ำที่ได้จะขึ้นอยู่กับชนิดของชั้นหินอุ้มน้ำ ปริมาณฝน และขนาดของบ่อ โดยเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ภายในหนึ่งกิโลเมตรโดยประมาณสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำทีซึมผ่านระหว่างกันได้ โดยหลักการ คือการเอาน้ำฝนไปเก็บในชั้นหินอุ้มน้ำ และเมื่อมีหลายบ่อใกล้ๆ กัน ก็จะเกิดการซึมผ่านต่อๆ ไปในชั้นหินอุ้มน้ำซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีรู มีช่องในชั้นหิน
ทั้งนี้ ดร.ปริเวท กล่าวเสริมว่า ในประเทศไทยไม่ใช่ทุกพื้นที่ ที่สามารถขุดเพื่อทำระบบกักเก็บน้ำใต้ดินได้ เพราะแต่ละภูมิภาคมีชั้นหินที่ต่างกัน จึงต้องศึกษาข้อมูลก่อนว่าสามารถทำได้หรือไม่ และอะไรที่ต้องระมัดระวัง เพราะฉะนั้นข้อมูลด้าน GIS จึงมีความสำคัญ โดยใช้ฐานข้อมูลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งจะมีแผนที่ชั้นหินต่าง ๆ และแผนที่ศักยภาพน้ำบาดาล เช่น ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นชุดหินมหาสารคาม ลึกประมาณ 7 เมตร สามารถขุดได้ แต่ควรระวังแผ่นเกลือที่มีกระจายอยู่ทั่วภูมิภาค พื้นที่ภาคเหนือมีความแตกต่างทางธรณีวิทยา บางพื้นที่เป็นหินแกรนิตที่มีการเก็บน้ำได้ที่ต่างกัน น้ำจะซึมผ่านตามรอยแตกให้ปริมาณต่างกัน แต่ถ้าเป็นชั้นหินที่มีรูพรุนจะมีการซึมผ่านของน้ำตามช่องรูพรุนนั้น จึงทำให้บางพื้นที่ขุดแล้วมีน้ำมากน้อยต่างกัน
ฉะนั้น ก่อนทำการขุดจะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานตามขั้นตอนของโครงการเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำต้นทุนด้วยระบบธนาคารน้ำใต้ดิน 8 ขั้นตอน (มาตรฐาน American Groundwater Solution: AGS) ควรดำเนินการทั้งก่อนและตามขั้นตอน ดังนี้ 1.การเก็บข้อมูลพื้นฐานด้านทรัพยากรน้ำชุมชนและภูมิประเทศ 2.การสำรวจและการกำหนดทิศทางการไหลของน้ำใต้ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำระดับชุมชน 3.การเจาะสำรวจชั้นดิน สำรวจธรณีฟิสิกส์ เพื่อประกอบการประเมินศักยภาพของแหล่งน้ำใต้ดินเพื่อความคุ้มทุนของโครงการ 4.การวางแผนและการกำหนดจุด 5.การออกแบบระบบธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ 6.การดำเนินการก่อสร้างตามรูปแบบที่กำหนดไว้ 7.การติดตาม ประเมินผล เก็บข้อมูลและการบำรุงรักษาบ่อเติมน้ำ และ 8.สรุป วิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค โอกาส และการขยายผลโครงการ โดยมาตรฐานดังกล่าว ได้จัดส่งให้กับหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อใช้ตรวจสอบก่อนที่จะดำเนินการใดๆ เพื่อไม่เป็นการสูญเปล่าทางด้านงบประมาณและผลประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับ
"เวลาเราไปอบรม เราเอาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ Geographic Information System (GIS) ของเราไปแนะนำให้กับเครือข่าย องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต.ทั้ง 6 ภูมิภาค ได้เข้าใจ พร้อมอธิบายขั้นตอนให้เขาได้รับรู้ คอยส่งข้อมูลที่เป็นงานวิชาการเข้าไปในกลุ่มไลน์เครือข่ายกว่า 1,500 พื้นที่ เพื่อให้เขายึดองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยเป็นหลัก " ดร.ปริเวท กล่าว
ทั้งนี้ งานของศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO) ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อมาตรฐานและอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ มจธ.เป็นหน่วยงานที่ให้บริการงานวิชาการและองค์ความรู้ด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์เป็นหลัก หากมีองค์กรหรือหน่วยงานใดที่ต้องการให้ทางมหาวิทยาลัย เข้าไปช่วยจัดการเรื่องระบบน้ำใต้ดินก็ประสานงานมาได้ ทางศูนย์ฯ พร้อมที่จะเข้าไปช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและใช้องค์ความรู้มีให้บริการอย่างเต็มที่ โดยพื้นที่ที่ได้เข้าไปช่วยจัดทำระบบน้ำใต้ดินหรือธนาคารน้ำใต้ดินที่ผ่านมา อาทิ อบต.บ้านผึ้ง จ.นครพนม , อบต.เชียงเครือ จ.สกลนคร และอบต.วังหามแห จ.กำแพงเพชร
สำหรับในปี 2563 มีด้วยกัน 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการการจัดการน้ำใต้ดิน ในพื้นที่ EEC โดย ปตท. ต้องการให้ช่วยจัดทำการจัดการน้ำใต้ดินระบบเปิดขึ้นภายในพื้นที่ของบริษัท ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอแผนหลังจากที่มีการสำรวจและกำหนดจุดในการขุดเรียบร้อยแล้ว 2) โครงการมาบตาพุดรวมใจฝากน้ำไว้กับแผ่นดิน เพื่อแก้ปัญหาท่วม น้ำแล้ง และน้ำเค็มรุก ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงและพุทรา ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างบริษัทพีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง และ มจธ. ในการจัดการน้ำใต้ดินเพื่อช่วยชาวสวนจากปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเค็มรุก และ 3) โครงการความร่วมมือกับกรมเศรษฐกิจการเกษตร และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ในการจัดการน้ำใต้ดินใน จ.ศรีสะเกษ
นอกจากการบริการด้านภูมิศาสตร์สารสนเทศแล้ว สิ่งหนึ่งที่ ดร.ปริเวท กำลังสานต่อ คือ การต่อยอดทางการเกษตร การวิจัย ทดลองปลูกพืชที่มีลักษณะเฉพาะหรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI และการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดความยั่งยืนสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ โดยขณะนี้ เริ่มทำที่ อบต.บ้านผึ้ง จังหวัดนครพนมแล้ว
"เมื่อเราหาน้ำให้เกษตรกรได้ เรามีมหาวิทยาลัย ไปช่วยสนับสนุนเรื่องความรู้ด้านการเกษตร การวิจัยทางการเกษตรเรามีระบบโลจิสติกส์ที่ไปถึงคนที่มีกำลังทรัพย์ที่จะซื้อโดยตรง โดยไม่ผ่านคนกลาง ตอนนี้ทดลอง ที่ อบต.บ้านผึ้ง อ.เมือง จ.นครพนม โดยนำชันโรงจากพัทลุงและสับปะรดจากอำเภอท่าอุเทน เข้าไปให้เกษตรกรในพื้นที่ได้กำลังทดลองปลูก เพราะเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับเกษตรกร จากเดิมที่ทำนาปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก แต่พืชที่เรานำเข้าไปสนับสนุนนี้เพียงต้องการเพิ่มพืชชนิดอื่น และให้มีสิ่งที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI เพื่อส่งขายไปยังตลาดในไทยและทั่วโลกได้" ดร.ปริเวท กล่าว