เอ็นไอเอ ผนึก หัวเว่ย ปั้นคนไอทีป้อนตลาด5จี
เอ็นไอเอ จับมือ หัวเว่ย พัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยี - บ่มเพาะสตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5จี หวังเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบนิเวศนวัตกรรม หนุนสตาร์ทอัพหน้าใหม่แจ้งเกิด พร้อมปูทางเข้าถึงแหล่งเงินทุน
นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ เอ็นไอเอ กล่าวว่า ร่วมมือกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด จัดทำโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5จี (Deep Tech Startup) ขึ้นเป็นปีที่ 2 ใน “โครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G”
ก่อนหน้านี้ เคยร่วมกันพัฒนาด้านไอโอทีคลาวด์มาแล้ว แต่ขณะนี้ 5จี เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาและสามารถพัฒนาไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ได้ เช่น ด้านการแพทย์ การท่องเที่ยว และเอนเตอร์เทนเมนท์ จึงนับเป็นการเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพหน้าใหม่นำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ทำผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ให้แก่ลูกค้ามากขึ้น
เขากล่าวว่า เบื้องต้นโครงการนี้มุ่งพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีเป็นอันดับแรก และหลังจากที่โปรแกรมเมอร์ หรือนักธุรกิจมีความเข้าใจเรื่อง 5จี มากขึ้น ต่อไปจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจที่นำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้งานได้จริง เช่น การแพทย์ ซึ่งต่อไปอาจมีการใช้การแพทย์ทางไกล (Telemed) ที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่มีการสื่อสารระหว่างกัน
“เทคโนโลยี 5จี จะทำให้คุณภาพในการสื่อสารดีขึ้นทั้งภาพ วีดิโอ ภาพเอ็กซ์เรย์ หรือแม้แต่ธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงวิกฤติโควิด-19”
นายปริวรรตกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการอบรมครั้งนี้ว่า มุ่งพัฒนากลุ่มสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการนวัตกรรมในระยะเริ่มต้น ที่มีรูปแบบธุรกิจและพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก หรือมีผลิตภัณฑ์ต้นแบบเทคโนโลยีเชิงลึก, ส่งเสริมสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการนวัตกรรมในระยะเริ่มต้น เข้าสู่กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้าน 5จี
พร้อมกันนี้ ผลักดันเข้าสู่กระบวนการเร่งสร้างสตาร์ทอัพ (Acceleration Program) ของเอ็นไอเอเช่น AGrowth (โปรแกรมเร่งสร้างการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านเกษตรในระดับนานาชาติครั้งแรกในประเทศไทย), SPACE-F (โครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) และ SPARK (โครงการบ่มเพาะและเร่งสร้างวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ “Global Accelerator Program”)
รวมทั้งส่งเสริมให้สตาร์ทอัพสามารถเข้าสู่แหล่งเงินทุน เช่น NIA Venture, Open Innovation, PMU C และ National Venture Port เป็นการพัฒนาขีดความสามารถของสตาร์ทอัพให้สามารถขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต
พร้อมระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์สตาร์ทอัพทั่วโลกเกิดการชะลอตัวในการระดมทุนจากวิกฤตโควิด ดังนั้น สตาร์อัพ ควรปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี เรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ เช่น 5จี เข้ามาปรับใช้เพื่อความอยู่รอดและสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่เพื่อการเติบโตต่อไป
เอ็นไอเอและหัวเว่ย ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพของกำลังคน เพื่อสังคมนวัตกรรมที่ยั่งยืน ณ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด เมืองเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือนต.ค.2562 โดยมีสาระสำคัญคือ การร่วมมือในการพัฒนาระบบนิเวศทางด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
รวมไปถึงสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และภาคเอกชน ร่วมกันพัฒนาบุคลากร ยกระดับขีดความสามารถ ทักษะดิจิทัล และนวัตกรรม เช่น บิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ 5จี และบริการที่มาพร้อมกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทั้งแบบใช้สายและไร้สาย