‘เบญจเมธา’ขยายแบรนด์จากภูมิปัญญาชาวปัตตานี

‘เบญจเมธา’ขยายแบรนด์จากภูมิปัญญาชาวปัตตานี

‘เบญจเมธา’ แบรนด์เครื่องปั้นดินเผาที่มีแนวคิดในการออกแบบลวดลายสะท้อนวิถีชีวิตของคนในชุมชน ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมในรูปแบบใหม่ แสดงอัตลักษณ์และวัฒนธรรมได้อย่างโดดเด่น ผ่านทักษะงานช่างฝีมือที่มีความหลากหลาย

เมื่อเอ่ยถึงแบรนด์ “เบญจเมธา” แล้ว จุดเริ่มต้นของชิ้นงานที่ทำให้แบรนด์นี้เป็นรู้จักคือ งานเครื่องปั้นดินเผาที่นำหลักคำสอนของศาสนาอิสลามมาถ่ายทอดลงบนชิ้นงานได้อย่างลงตัว ตั้งแต่การใช้ดินจากท้องถิ่นจังหวัดปัตตานีที่มีแคลเซียมสูง ผสมกับเนื้อทรายจากชายหาด เผาแล้วได้สีแดงสวยมาเป็นส่วนผสมสำคัญ ลวดลายบนชิ้นงานที่เกิดจากการร้อยเรียงหลักคำสอนในภาษาอาหรับ รวมไปถึงการนำวัสดุไม้มากลึงให้ได้รูปทรง โดยใช้ทักษะช่างฝีมือภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การกลึงไม้ทำด้ามกริช การทำลูกข่าง มาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้เครื่องปั้นดินเผาแบรนด์ “เบญจเมธา” มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น สะท้อนถึงวัฒนธรรม ความศรัทธา และวิถีชีวิตของชุมชนได้อย่างลงตัว

160008786622

แม้ว่าวิกฤตโควิดจะทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก แต่ เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ยังคงพัฒนาแบรนด์อย่างต่อเนื่องโดยนำ “วิถีชุมชน” มาเป็นหัวใจหลักในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ ฉีกภาพลักษณ์จากเดิมที่คนทั่วไปคิดถึงแต่ผลิตภัณฑ์เซรามิกสู่ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ สอดรับกับพฤติกรรมการบริโภคของคนรุ่นใหม่ โดยนำทักษะงานช่างฝีมือที่หลากหลายภายในพื้นที่มาเป็นตัวขับเคลื่อนสร้างความหลากหลายให้กับแบรนด์

ยกตัวอย่างเช่น 

- “กาอีบรีคเบญจเมธา” สำหรับต้มโกปีกาแฟสดที่ตัวถ้วยทำจากเซรามิกพร้อมด้ามจับที่กลึงได้รูปสวยงามจากงานไม้

- “หม้อใส่โรตีเซรามิก” ที่นำรูปทรงของลูกข่างมาปรับเป็นด้ามจับ

-การนำ “ชายหาดทะเลแฆแฆ” มาเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาน้ำเคลือบที่ให้ความรู้สึกเหมือนกับน้ำทะเลกระทบชายหาดบนชิ้นงาน

- รวมไปถึงคอลเลคชั่นล่าสุดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสีท้องฟ้า และแมกไม้ มาสร้างงานเครื่องปั้นดินเผาชุด “Blue & White & Brown”

160008791838

นอกจากนี้ เอ็มโซเฟียนยังสร้างแบรนด์ใหม่โดยนำ “วิถีชีวิต” ของชุมชนมาเป็นศูนย์กลาง เช่น แบรนด์ “Derndin Craft” ที่นำเป้ายิงธนู อีกหนึ่งวิถีชีวิตของคนในพื้นที่มาพัฒนาเป็นโต๊ะ และเก้าอี้นั่ง แบรนด์ “Lepas” ที่นำงานเพ้นท์ผ้าบาติกมาพัฒนาเป็นผ้าเอนกประสงค์ตามวิถีไทยมลายูสู่วิถีชีวิตร่วมสมัย ชิ้นงานมีลวดลายสะท้อนวิถีท้องถิ่น ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สัตว์พื้นเมืองที่ใกล้สูญพันธุ์ และสูญหายไปแล้ว ความสมบูรณ์ทางชีวภาพ และศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองที่ควรดูแลและอนุรักษ์

160008793931

การเดินทางของเอ็มโซเฟียน แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการนำวิถีชีวิตของคนในชุมชนมาเป็นแกนกลางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ่านทักษะงานช่างฝีมือที่มีความหลากหลาย พร้อมขยายแบรนด์แบ่งกลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์อย่างเด่นชัด ตอกย้ำเป้าหมายสำคัญของชีวิตที่ต้องการอนุรักษ์สิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นในทุก ๆ ด้าน เปรียบเหมือนกับการทิ้งมรดกส่งต่อให้ลูกหลาน และบ้านเกิดเมืองปัตตานี โดยไม่ได้ยึดติดเพียงแค่ศิลปวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงงานเกษตรกรรม และงานปศุสัตว์อย่างการเลี้ยงแพะสายพันธุ์ “กำปงปาลัส” ที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนมลายูอยู่แล้ว <<<