ก.อุตฯ+อว.นำร่อง 11 มหาวิทยาลัยกระตุ้นท่องเที่ยว 11 วิสาหกิจชุมชน
กระทรวงอุตฯ ผนึก อว. ดึง 11 มหาวิทยาลัย ปั้น 11 หมู่บ้านท่องเที่ยว CIV ส่งเสริมนักศึกษาพัฒนาชุมชน ตั้งเป้าสร้างงานชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยวท้องถิ่น
กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม บูรณาการความร่วมมือ กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดโครงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและโครงการยุวชนอาสา เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชน นิสิต นักศึกษา ได้นำแนวคิดสมัยใหม่ เข้ามาพัฒนาวิสาหกิจชุมชน เพื่อรองรับการท่องเที่ยววิถีอัตลักษณ์ ทั้งยังส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้ความเป็นมาท้องถิ่น และส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน นำร่อง 11 มหาวิทยาลัย พัฒนา 11 วิสาหกิจชุมชน เพื่อเป็น หมู่บ้าน CIV ที่ดีพร้อม โดยคาดว่าจะสามารถสร้างการมีงานทำให้คนในชุมชนมากกว่าร้อยละ 10 และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 2 หมื่นบาทต่อครัวเรือน
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญถึงความสำคัญของการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง และการสร้างการมีงานทำในชุมชน เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ที่เคยมีงานทำ กลายเป็นคนว่างงานกว่า 2.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากในช่วงเดือนเมษายน ที่มีจำนวนกว่า 5 แสนคน โดยพบว่าส่วนใหญ่แรงงานได้อพยพกลับภูมิลำเนา ประกอบกับการดำเนินงานที่ผ่านมาของกระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจชุมชน คือ โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Creative Industry Village) หรือ หมู่บ้าน CIV ที่ยังต้องการความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ จึงสั่งการให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้แทนในการดำเนินการประสานความร่วมมือ กับ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ บูรณาการความร่วมมือในภาคใหญ่ ส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนโครงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและโครงการยุวชนอาสา เพื่อให้เกิดการใช้ทักษะความรู้ความสามารถจากคนรุ่นใหม่ สร้างกระบวนการเรียนรู้จากการลงพื้นที่จริง ซึ่งถือเป็นเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ ที่จะทำให้นักเรียน นักศึกษา เข้าใจถึงบริบทของแต่ละชุมชนที่มีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค เพื่อวางแผนการดำเนินงานสร้างรายได้และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการชุมชน ทั้ง 11 หมู่บ้าน
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า แนวทางการดำเนินโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Creative Industry Village : CIV) คือ หมู่บ้านแห่งความสมดุลที่นำทุนวัฒนธรรม วิถีชีวิต มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ของสินค้าที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว และบริการ หรือกิจกรรมที่สร้างประสบการณ์ใหม่จากการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดมูลค่าใหม่ทางเศรษฐกิจบนแนวคิดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ให้มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงคุณภาพรองรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
โครงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและโครงการยุวชนอาสา ได้นักศึกษาจาก 11 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาเข้าร่วมโครงการฯ
นักศึกษาจะได้เรียนรู้การจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจ ตามความต้องการของชุมชนในด้านต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการ การท่องเที่ยว สินค้าและบริการ เทคโนโลยีการผลิต การตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชน ทั้งแบบ One day trip และแบบพักค้างคืน และการช่วยยกระดับชุมชนให้เป็นชุมชนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนได้ ซึ่งคาดกว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนกว่าครัวเรือนละ 2 หมื่นบาท และสร้างการมีงานทำในชุมชนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 อย่างไรก็ดี โครงการฯ มีกำหนดดำเนินงานระหว่างเดือนสิงหาคม ถึงพฤศจิกายน 2563 คาดว่าจะมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการกว่า 60 คน
รายชื่อ 11 หมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย
1.ชุมชนออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ “ภูเขาไฟฟูจิเมืองไทย ในอารยธรรมล้านนา”
2.บ้านนาต้นจั่น อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย “หมู่บ้านแห่งความสุขบนวิถีพอเพียง สืบสานภูมิปัญญารุ่นสู่รุ่น บ้านนาต้นจั่นนั้นเด่นดัง ข้าวเปิ๊บยายเครื่องเลื่องชื่อ เลื่องลือผ้าหมักโคลนงานแท้ มาแลตุ๊กตาโหนบาร์ตาวงค์”
3. บ้านสวนขวัญ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี “อู่ข้าวอู่น้ำ วัฒนธรรมรุ่งเรือง เมืองผ้ามัดหมี่ สตรีแสนงาม”
4. บ้านน้อย อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย "ชุมชนริมน้ำโขง บ้านไม้เรือนโบราณวิถีชีวิตชาวบ้าน ประเพณีตักบาตรข้าวเหนียว เมืองคนงาม ข้าวหลามยาว มะพร้าวแก้ว เพริศแพร้วเกาะแกง แหล่งวัฒนธรรม น้อมนำศูนย์ศิลปาชีพ”
5. บ้านดอนข่า อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น “แหล่งผลิตผ้าไหมครบวงจร รวบรวมภูมิปัญญาไว้ในพิพิธภัณฑ์ไหมไทย ชนบทเมืองไหม เที่ยวไปภูระงำศักดิ์สิทธิ์ภูหัน ดูตะวันหนองกองแก้ว”
6. บ้านสนวนนอก อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ “เมืองผลไม้ พายเรือแข่ง แหล่งทุเรียนกวน สวนสมเด็จ”
7. บ้านห้องแซง อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร “เลิศล้ำวัฒนธรรมผู้ไท ผืนถิ่นแห่งความสุขที่ยิ่งใหญ่ สัมผัสได้ที่ฮ่องแซงข้าวหอมมะลิขาวสวย ห้วยลิงโจนน้ำใส ถิ่นฐานไกลเมืองพิณ หินสามก้อนค่าล้ำ วัฒนธรรมภูไท”
8. บ้านศาลาดิน อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม “บ้านศาลาดิน วิถีชีวิตชุมชน คนคลองมหาสวัสดิ์ ดินแดนธรรมะ พระปางลีลา การศึกษาก้าวหน้า พัฒนาคุณธรรม”
9. ชุมชนบางคล้า อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา “ชุมชนริมแม่น้ำบางปะกง แหล่งผลิตและแปรรูปมะม่วง มะพร้าวน้ำหอม และตาลโตนด ขนมเบื้องเลื่องลือ หลากหลายรสชาติ การทำหมวกกุยเล้ย บางปะกงคู่ชีวี พระสถูปเจดีย์คู่ถิ่น ศาลพระเจ้าตากสินคู่บ้าน อาหารคาวหวานคู่เมือง ลือเลื่องค้างคาววัดโพธิ์”
10. บ้านหน้าทับ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช “แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ วิถีชุมชน ที่มีทรัพยากรทางทะเลอุดมสมบูรณ์ มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้สูญหาย และมีการนำทรัพยากรในพื้นที่มาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าทรัพยากรมากหลายหาดทรายรี หม้อดีบ้านยิง มิ่งเมืองมหาวิทยาลัย น้ำใสปลาสด งดงามน้ำใจ”
11.บ้านทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี “เส้นทางการท่องเที่ยวสัมผัสพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง มีต้นไม้ใหญ่ชื่อดัง และมีรถจี๊ป โบราณสมัยสงครามโลกศูนย์บริหารราชการงามสง่า บารมีหลวงปู่ทวดวัดช้างให้ เมืองผลไม้ดก น้ำตกทรายขาว วันเสาร์ตลาดนัดใหญ่ ศูนย์ฝึกอาชีพเลื่องลือไกล อนุรักษ์ประเพณีไทยงานชักพระ”