นวัตกรรม
วช.ขนทัพงานวิจัยจัด "ประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น" ประจำปี 64
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เดินหน้าจัดประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2564 หวังสร้างโอกาสและแรงจูงใจแก่นักวิจัย-นักประดิษฐ์ไทย ในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์เชิงเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน พร้อมถ่ายทอด "เทคนิคการบินโดรนแปรอักษร"
วานนี้ (21 ก.ย.) นางสาววิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2564 และกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการประดิษฐ์คิดค้น และได้กล่าวถึงรายละเอียดงานในครั้งนี้ว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. มีหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยและนวัตกรรม
โดยกจะเป็นการสร้างแรงจูงใจแก่นักวิจัยและนักประดิษฐ์ ในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ที่มีคุณภาพ และหน้าที่สำคัญประการหนึ่งคือ การให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณ หรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงาน โดยจัดให้มีรางวัลการวิจัยแห่งชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งงานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ วช. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นเวทีให้นักประดิษฐ์ได้นำผลงานออกเผยแพร่สู่สาธารณชน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักประดิษฐ์ไทยในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม/ชุมชน
"จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มี 2 เรื่องที่จะต้องให้ความสำคัญ คือ เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ที่ใช้ในการดูแลสาธารณสุข อีกส่วนคือการเยียวยาหลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบ ดังนั้นนวัตกรรมที่จะเป็นงานวิจัย หรือสิ่งประดิษฐ์จะเป็นในส่วนของการป้องกันดูแล ซึ่งเราให้ความสำคัญในสิ่งเหล่านี้ อาทิ อุปกรณ์ป้องกัน หน้ากากอนามัย ซึ่งในส่วนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมที่เยียวยาจะเป็นในมิติเชิงสังคม/ชุมชน ที่จะเน้นในการช่วยเหลือการประกอบอาชีพและการบ่มเพาะองค์ความรู้ในการสร้างเสริมรายได้ โดยมีผลงานที่ส่งประกวดร่วมแสดงนิทรรศการจำนวนกว่า 133 ผลงานใน 9 สาขาวิชาการ ซึ่งได้รับการคัดกรองมาแล้วในระดับหนึ่งเพื่อต่อยอดสู่การนำเสนอสิ่งประดิษฐ์ที่พร้อมใช้งาน อาทิ ถุงหุ้มสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ,ชุดคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ผลงานจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"
วิภารัตน์ กล่าวเสริมว่า วช.เน้นการสร้างโอกาสในการนำองค์ความรู้จากวิจัย นวัตกรรม กลับไปสู่ชุมชนเพื่อให้เกิดความรู้และสร้างรายได้ อีกทั้งการร่วมกับหน่วยงานอีกหลากหลายหน่วยที่จะส่งผลต่อการจ้างงาน คาดหวังว่าเมื่อมีผลงานที่ผ่านการคัดกรองเชิงคุณภาพแล้วจะถูกส่งต่อไปให้กับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่ดำเนินการร่วมกับชุมชนทำให้เกิดการจ้างงานและถ่ายทอดองค์ความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
ทั้งนี้การจัดงานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้นในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาให้รางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น เพื่อให้คณะทำงานประเมินรางวัลฯ ได้ซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับผลงานเพิ่มเติมพร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงผลงาน ซึ่งจะทำให้นักประดิษฐ์ได้มีโอกาสรับฟังข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยนพูดคุยประสบการณ์ เพื่อการพัฒนาผลงานต่อไป กิจกรรมงานประกวดผลงานประดิษฐ์ฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 - 22 กันยายน 2563 ณ ห้องศูนย์จัดการความรู้การวิจัย ชั้น 1 อาคาร วช. 1 และบริเวณโถง ชั้น 1 อาคาร วช. 4
และนอกจากงานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้นแล้ว วช. ยังได้ร่วมกับสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการประดิษฐ์คิดค้น การถ่ายทอดเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ “เทคนิคการบินโดรนแปรอักษร” ให้กับนักเรียน นักศึกษาในระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ระหว่างวันที่ 21 - 23 กันยายน 2563 เพื่อนำความรู้ที่เกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานโดรนนำไปใช้ต่อยอดในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในด้านต่าง ๆ อาทิ การสำรวจการลาดตระเวน การถ่ายภาพพื้นที่ทางอากาศ
การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งนี้ในปัจจุบันได้มีการนำโดรนมาใช้ในงานแปลอักษรในกิจกรรมการแสดง แสง สี เสียง ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสวยงามและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการคิดค้นและพัฒนาซอฟต์แวร์การสั่งงานโดรนแปลอักษรได้สำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย โดยมีทีมเข้าอบรมกว่า 40 ทีม