‘ไอแทป’ หนุนเอสเอ็มอี โตยั่งยืนฐานเทคโนโลยี
สวทช.นำสินค้าอาหารนวัตกรรมที่ผ่านการพัฒนายกระดับด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในโครงการไอแทปร่วมอวดโฉมในงาน "THAIFEX 2020" เปิดโอกาสสร้างการรับรู้ในแวดวงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร หวังต่อยอดธุรกิจขยับสู่ตลาดสากล
เฉลิมพล ตู้จินดา รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มระดับโลก หรือ THAIFEX ปีนี้ สวทช.นำคณะผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนจาก ITAP มากถึง 30 ราย ร่วมออกบูธนำเสนอผลงานสินค้านวัตกรรม และยังมีบริษัทร่วมนำสินค้าไฮโลท์โชว์เคสอีก 15 ราย รวมแล้วมากถึง 45 บริษัท เพื่อเป็นเวทีที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้แสดงผลงาน สร้างโอกาสในการจำหน่ายสินค้าและบริการต่าง ๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจสู่ตลาดสากลได้ต่อไป
แล็บเทคโนโลยีของเอสเอ็มอี
ITAP หรือโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่สร้างกลไกเชื่อมโยงผู้ให้บริการเทคโนโลยีเข้ากับผู้ใช้เทคโนโลยี เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้มีการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี
ไอแทปช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เอสเอ็มอีไทยมาแล้วกว่า 1 หมื่นโครงการ ด้วยการช่วยวิเคราะห์ความต้องการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม จัดหาผู้เชี่ยวชาญเข้าช่วยเหลือตามโจทย์ความต้องการ และร่วมบริหารโครงการเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจนเกิดผลลัพธ์ที่น่าพอใจ สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำโครงการสูงสุด 50% แต่ไม่เกิน 4 แสนบาทต่อโครงการ ตามเกณฑ์ของโปรแกรมฯ
ทั้งนี้ โปรแกรมฯ ทำหน้าที่สร้างกลไกเชื่อมโยงผู้ให้บริการเทคโนโลยี (Technology Service Providers) เข้ากับผู้ใช้เทคโนโลยี (Technology Users) โดยทำงานผ่านเครือข่ายที่ปรึกษาทางเทคโนโลยีอยู่ทั่วประเทศถึง 20 แห่งครอบคลุมทั่วภูมิภาคของไทย แต่ละแห่งจะมีเจ้าหน้าที่ Industrial Technology Advisor (ITA) ที่มีความรู้ทางด้านวิศวกรรม และวิทยาศาสตร์ ประจำอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ คอยรับโจทย์ความต้องการเบื้องต้นจากผู้ประกอบการ และสรรหาผู้เชี่ยวชาญด้านที่ตรงกับโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ เข้าไปให้คำปรึกษาเชิงลึกถึงสถานที่ของผู้ประกอบการโดยตรง
โปรแกรมฯ จำกัดให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่เป็นร้านค้า ฟาร์ม กลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ห้างหุ้นส่วน และบริษัทในภาคผลิตที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 500 ล้านบาท และบริษัทในภาคบริการมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 200 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับให้ผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม หรือ Innovation Driven Enterprise (IDE) ด้วยการบูรณาการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเชื่อมโยงการทำงานให้ครบวงจร อาทิ โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจอาหารในการผลิตอาหารฟังก์ชั่น ทำงานร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เป็นต้น
อาหารนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ
ตัวอย่างสินค้าอาหารนวัตกรรมที่ร่วมอวดโฉมในบูธ Innovation and Design Zone หรือ IDZ Bazaar อาทิเช่น “ผลิตภัณฑ์ทุเรียนอบกรอบ ไส้แมคคาเดเมีย (Macadurian)” บริษัท ดีพเซาท์ สมาร์ทฟาร์ม จำกัด เป็นการนำราชาของผลไม้ คือ ทุเรียน มาพบปะกับ ราชาของถั่ว คือ แมคคาเดเมีย ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ทุเรียนอบกรอบไส้แมคคาเดเมียที่มีรสชาติกลมกล่อม นัว อร่อย โดยบริษัทได้รับการสนับสนุนในส่วนของผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการพัฒนาเรื่องอายุการเก็บรักษา (shelf life) การเพิ่มขยายขนาด (Scale up) สินค้าในปริมาณที่มากขึ้น และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ให้มีความพรีเมียม
“ผลิตภัณฑ์ผัดไทยพร้อมปรุง ทาริกา (Tharika)” บริษัท CS CREATIVE FOODS จำกัด เป็นผัดไทยที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อสุขภาพ ลดปริมาณโซเดียมแต่ยังได้รสชาติที่อร่อยเหมือนรสชาติดั้งเดิม เส้นที่นำมาทำเน้นวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสุขภาพ มีทั้งที่เป็นฟักทอง อัญชันและอื่นๆ ได้รับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ในการร่วมพัฒนา เพื่อให้เป็นผัดไทยพร้อมปรุง และซอสที่บรรจุในซอง ซึ่งมีรสชาติของเครื่องปรุงที่ครบเครื่องทุกอย่าง เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ชอบทานผัดไทยและใส่ใจในสุขภาพ
“ผลิตภัณฑ์แป้งพิซซ่ากึ่งสำเร็จรูปปราศจากกลูเตน (Pizza Crust Mix - Gluten Free)” ห้างหุ้นส่วนจำกัด บางใหญ่ซัพพลาย ได้รับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากไบโอเทค สวทช. ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปชนิดใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่แพ้กลูเตน ไม่สามารถทานแป้งสาลีได้
“คุกกี้อบกรอบสอดไส้ช็อกโกแลตทุเรียน แบรนด์ ชาร์แน็ค (Chanack)” บริษัท อรชา ฟู้ด จำกัด ในส่วนที่ขอรับการสนับสนุนคือ การปรับปรุงเนื้อสัมผัสให้มีความบางเบา กรอบละลายในปาก และมีอายุการเก็บที่ยาวนานขึ้น โดยได้ทำช็อกโกแลตทุเรียน จากเนื้อทุเรียนแท้ และตัวช็อกโกแลตมีส่วนผสมของน้ำตาล เป็นความหวานจากเนื้อทุเรียนล้วน