จุฬาฯ พัฒนา “น้ำมันคาเมลเลีย” ตอกย้ำงานวิจัยดีพเทคยุคใหม่
จุฬาเจ๋ง! เปิดตัวกระบวนการผลิตน้ำมันจากเมล็ดชาด้วยวิธีใหม่ ดึงความรู้และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เชิงลึก (Deep Science & Technology) ต่อยอดน้ำมันชาโครงการหลวง สู่ "น้ำมันคาเมลเลีย" ตอบโจทย์สังคมที่ยั่งยืน ตอกย้ำภาพงานวิจัยดีพเทคยุคใหม่ต้องไม่ขึ้นหิ้ง!
หนุนวิจัยไทยไม่ขึ้นหิ้ง
ศาสตราจารย์ ดร.นงนุช เหมืองสิน อาจารย์ประจำ ภาควิชาเคมี คณะวิทยายาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทีมเปิดตัวกระบวนการผลิตน้ำมันจากเมล็ดชาด้วยวิธีใหม่ โดยการใช้ความรู้และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เชิงลึก (Deep Science & Technology) ต่อยอดน้ำมันชาโครงการหลวง พัฒนากระบวนการผลิตเป็นน้ำมันชาสูตรใหม่และเรียกว่า “น้ำมันคาเมลเลีย” หวังตอบโจทย์และต่อยอดโครงการพัฒนาน้ำมันเมล็ดชามูลนิธิชัยพัฒนา สู่สังคมที่ยั่งยืน ตอกย้ำภาพงานวิจัยดีพเทคยุคใหม่ต้องไม่ขึ้นหิ้ง
"จุดเริ่มต้นจากการที่ได้รับเชิญจาก ดร.ชูพรรณ โกวานิชย์ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาน้ำมันเมล็ดชา ให้นำทีมคณาจารย์ นิสิต และนักวิจัย ในภาควิชาฯ เข้าพบผู้บริหารมูลนิธิชัยพัฒนา และได้รับโจทย์จากมูลนิธิ โดยโครงการดังกล่าวเป็นผลผลิตจากแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานพระราชดำริขึ้นในปี พ.ศ. 2547 ให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการศึกษาและทดลองปลูกต้นชาน้ำมันสายพันธุ์คาเมลเลีย โอลิเฟลา (Camellia Oleifera) จากประเทศจีน จากนั้นมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน” ณ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อเป็นโรงงานผลิตน้ำมันชา และพืชน้ำมันอื่น ๆ ซึ่งโรงงานนี้จะผลิตน้ำมันสำหรับการบริโภค เครื่องสำอาง และยารักษาโรค"
ปัจจุบันน้ำมันเมล็ดชาได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานจากองค์การอาหารและยา และมูลนิธิโรคหัวใจได้อนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ อาหารรักษ์หัวใจ ในสินค้าน้ำมันเมล็ดชา ภายใต้ตราสินค้าภัทรภัทร และการกำกับดูแลของมูลนิธิชัยพัฒนา
อีกทั้งยังได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนหลายครัวเรืองปลูกชาน้ำมันเพิ่มขึ้น ทำปัจจุบันให้มีวัตถุดิบผลผลิตจากชุมชนเพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำมันชาอยู่เป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีการขยายฐานการผลิตน้ำมันชาและความต้องการการบริโภคน้ำมันชาในตลาดให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ถึงแม้ว่า 'น้ำมันเมล็ดชา' เป็นที่รู้จักกันและได้รับการยอมรับมานานว่า มีประโยชน์มากมายจนได้ชื่อว่า “น้ำมันมะกอกแห่งโลกตะวันออก” เนื่องจากมีองค์ประกอบของไขมันที่ดีต่อร่างกายและไม่มีกรดไขมันทรานส์ ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมวิตามิน เอ ดี อี และเค ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้น้ำมันเมล็ดชายังมีกรดไขมันอิ่มตัวซึ่งไม่ดีต่อร่างกายต่ำ ในขณะที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว อาทิ โอเมก้า 9 โอเมก้า 6 และโอเมก้า 3 ซึ่งกรดไขมันไม่อิ่มตัวเหล่านี้ช่วยลดระดับ LDL (คลอเรสเตอรอลชนิดไม่ดี) และเพิ่มระดับ HDL (คลอเรสเตอรอลชนิดดี) ในร่างกาย ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตัน โรคอัมพาต โรคความดัน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจได้ จึงดีต่อสุขภาพของคนทุกเพศทุกวัย และยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ สำหรับการนำมาประกอบอาหาร น้ำมันเมล็ดชามีจุดเกิดควันที่สูง (มากกว่า 250 องศาเซลเซียส) ทำให้สามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นทอด ผัด หรือใช้เป็นส่วนผสมของน้ำสลัด
แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเท่าที่ควร เนื่องจากคุณลักษณะของน้ำมันเมล็ดชาที่จำหน่ายอยู่ในตลาดขณะนี้ มีกลิ่นเฉพาะที่ผู้บริโภคไม่คุ้นเคยนัก และช่องทางการจำหน่ายไม่มากเท่าที่ควร จึงทำให้ผู้บริโภคเลือกที่จะบริโภคน้ำมันชนิดอื่นแทน เมื่อความต้องการในตลาดไม่สูงเท่าที่ควร จึงส่งผลให้การผลิตน้อยทำออกมาน้อยตามไปด้วย ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตน้ำมันชาสูง ยังผลให้ราคาขายสูงตามไปด้วย
ศ.นงนุช กล่าวต่อไปว่า ได้มีการดำเนินการเพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องจุดอ่อนของตัวผลิตภัณฑ์ อาทิ กลิ่นของตัวชาน้ำมันที่ไม่เป็นที่คุ้นเคยจึงยังไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค โดยนำมาเป็นโจทย์ให้นิสิตศึกษาและค้นหาปัญหาที่แท้จริงจากผู้บริโภคผ่านการทำแบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึก ร่วมกับการวิจัยทางการตลาด
เมื่อได้ข้อสรุปแบบสอบถามเบื้องต้นจึงนำปัญหาดังกล่าวมาหาวิธีการแก้ไขด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เชิงลึก (Deep Science & Technology) สกัดเมล็ดชาด้วยวิธีเคมีสะอาด หรือ Green Chemistry หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีจำนวนมากเพื่อเพิ่มการยอมรับของผู้บริโภคในกระแสรักษ์สุขภาพ และเพื่อลดปริมาณของเสียต่อสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของโรงงาน
จนสุดท้ายสามารถสกัดเมล็ดชาน้ำมันจนได้เป็นน้ำมันที่มีคุณภาพ สะอาด และมีกลิ่นที่เหมาะสมสำหรับการปรุงอาหาร โดยไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค จึงเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการธรรมชาติ “100% Green Process” อย่างแท้จริง
"น้ำมันเมล็ดชาสูตรใหม่ภายใต้ชื่อที่เรียกกันขณะนี้ว่า “น้ำมันคาเมลเลีย” เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการบริโภคน้ำมันของผู้บริโภค และยังคาดหวังว่าน้ำมันเมล็ดชาสูตรดังกล่าว จะมีการนำไปผลิตและจำหน่ายในเชิงอุตสาหกรรม และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น เพราะในทีมวิจัยไม่ได้อยู่เฉพาะในห้องแล็บเท่านั้น ยังได้ทำวิจัยเพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงศึกษาปัจจัยในการเลือกซื้อน้ำมันคาเมลเลีย ควบคู่กระบวนการวิจัยในเชิงลึก เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ตัวผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาออกมานั้น จะนำไปสู่การยอมรับของผู้บริโภค และสามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างยั่งยืน และสามารถช่วยเพิ่มคุณค่าให้ชุมชนที่ปลูกชาน้ำมันให้กลายเป็นพืชทางการเกษตรที่หล่อเลี้ยงครอบครัวและชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป และสะท้อนให้เห็นว่างานวิจัยเชิงลึกต้องไม่อยู่บนหิ้งอีกต่อไป"