‘โควิด’ ดัน'ภัยไซเบอร์'พุ่ง ยักษ์ไอทีโหมโซลูชั่นเร่ง ‘สกัด’
มีปัญหาช่องว่างที่สำคัญมากสำหรับความสามารถขององค์กรในการตรวจสอบภัยคุกคามด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ โดยกว่าหนึ่งในสี่ หรือ 28%ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกว่า มีปัญหาช่องว่างสำคัญ หรือร้ายแรงในแง่ของการรองรับการทำงานจากที่บ้าน
ซันเจย์ เค. เดชมุคห์ รองประธานและกรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี วีเอ็มแวร์ กล่าวว่า องค์กรธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พึ่งพานวัตกรรมดิจิทัลอย่างมาก เพื่อตอบสนอง ปรับตัว และเพิ่มความรวดเร็วฉับไวในการดำเนินธุรกิจ ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ และจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความยืดหยุ่นและความปลอดภัยให้องค์กร เพื่อดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว
ภายในงาน วีเอ็มแวร์ 2020 จึงได้เปิดตัวโซลูชั่นและบริการช่วยให้องค์กรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ "อยู่รอด" และ เติบโตอย่างมั่นคง เช่น แพลตฟอร์มคลาวด์ ดิจิทัลเวิร์ค สเปซ เน็ตเวิร์ค ซิเคียวริตี้ รวมถึงปรับปรุงแอพให้ทันสมัยเพื่อ สร้าง ใช้งาน จัดการ เชื่อมต่อ และปกป้องแอพพลิเคชันต่างๆ ในทุกที่ รวมถึง เปิดตัววีเอ็มแวร์ คาร์บอน แบล็ค คลาวด์ เวิร์คโหลด ที่ออกแบบมาเพื่อคุ้มครองเวิร์คโหลดที่ทันสมัย ลดช่องทางการโจมตี มีฟีเจอร์รายงานความเสี่ยง มีเทคโนโลยีป้องกัน ตรวจจับ และตอบสนองต่อภัยคุกคาม เป็นต้น
มัลแวร์เรียกค่าไถ่ภัยสำคัญ
สำหรับ “เน็ตแอพ” ผู้นำด้านบริการข้อมูลบนระบบคลาวด์ ขยายความเรื่อง “มัลแวร์เรียกค่าไถ่” โดยระบุว่า กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มุ่งโจมตีระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ รวมไปถึงระบบแบ็คอัพ และอุปกรณ์ลูกข่าย มัลแวร์เรียกค่าไถ่ มีจุดมุ่งหมายที่จะเข้าควบคุมข้อมูลสำคัญ และทำให้ธุรกิจทั่วโลกต้องหยุดชะงัก มัลแวร์เรียกค่าไถ่ ใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสในการสร้างซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตราย แล้วล็อคข้อมูลของเหยื่อ และเรียกร้องค่าไถ่เพื่อแลกกับคีย์ที่ใช้ในการถอดรหัสข้อมูล
เน็ตแอพ เผยว่า ธุรกิจบริการด้านการเงินครองสัดส่วน 62% ของข้อมูลทั้งหมดที่มีความเสี่ยงในช่วงปี 2562 แต่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 6.5 % ของปัญหาข้อมูลรั่วไหล ตามรายงานของ Bitglass เมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ แล้ว พบว่า ธุรกิจบริการด้านการเงินมีค่าใช้จ่ายต่อการละเมิดด้านข้อมูลสูงสุดเป็นอันดับที่สอง ตามหลังธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ โดยมีค่าใช้จ่ายโดยที่เกิดจากการละเมิดอยู่ที่ 210 ดอลลาร์ต่อบันทึกข้อมูลหนึ่งชุด
การฟื้นฟูระบบจากการโจมตีด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่ โดยให้ระบบมีเวลาหยุดทำงาน (Downtime) น้อยที่สุด จะเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อมีการปรับใช้แผนการกู้คืนระบบเชิงรุก การที่องค์กรสามารถกู้คืนระบบหลังจากที่ถูกโจมตีนับเป็นเรื่องดี แต่ถ้าสามารถป้องกันการโจมตีได้ด้วยก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ดียิ่งขึ้นไปอีก ขณะที่ องค์ประกอบหลักที่ป้องกันการโจมตีหรือกู้คืนระบบภายหลังการโจมตีก็คือ “ดาต้าเซ็นเตอร์”
“ถ้าข้อมูลคือเลือดที่หล่อเลี้ยงธุรกิจของคุณ แน่นอนว่าคุณจำเป็นที่จะต้องปกป้องข้อมูลให้ปลอดภัยอยู่เสมอ”