“บิ๊กตู่” ดัน พ.ร.บ.กิจการอวกาศ สร้างความมั่นคงแก่ 'เทคโนโลยี' ในปัจจุบัน

“บิ๊กตู่” ดัน พ.ร.บ.กิจการอวกาศ สร้างความมั่นคงแก่ 'เทคโนโลยี' ในปัจจุบัน

พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2563 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2563 โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมในครั้งนี้

160329734047


พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เห็นได้ถึงความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาด้านดิจิทัลในหลายด้าน ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมาได้วางโครงข่ายเน็ตประชารัฐ ครอบคลุมทั่วประเทศ ตลอดจนการออกกฎหมายบริหารกิจการอวกาศของประเทศ ซึ่งส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศของประเทศให้ทัดเทียม และสอดคล้องตามหลักเกณฑ์ระดับสากล ด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ใช่เพียงการส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ต้องครอบคลุมถึงระดับชุมชน
ต้องส่งเสริมให้มีการนำดิจิทัลมาใช้ตั้งแต่กระบวนการทางการเกษตร จนถึงการจำหน่ายสินค้าและบริการจากชุมชนในรูปแบบออนไลน์ ด้านรัฐบาลดิจิทัล
โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำถึงการใช้ข้อมูล Big Data และการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน และให้บริการอย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้านการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎหมายด้านดิจิทัล ให้สอดรับกับสถานกาณ์ปัจจุบัน เพื่อให้การดำเนินธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่มีข้อติดขัด
และสนับสนุนให้มีการนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ให้มีความปลอดภัย และสิ่งสำคัญที่สุดของการพัฒนาด้านดิจิทัล คือการพัฒนากำลังคนให้มีความรู้ด้านดิจิทัล เพื่อรู้เท่าทันสื่อ และสามารถใช้ความรู้ด้านดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนา "เศรษฐกิจ" และ "สังคม" ของประเทศ เพื่อเตรียมเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต
160329738175

ทั้งนี้ เห็นได้จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ของ IMD ที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา (ปี 2563 อันดับที่ 39 , ปี 2562 อันดับที่ 40) ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี ที่ทำให้เห็นว่าการพัฒนาด้านดิจิทัลของไทย มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้าน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ติดตามและผลักดันการวางนโยบายและการดำเนินงานด้านโครงสร้างสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศอย่างต่อเนื่อง
พร้อมทั้ง นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. ... เพื่อให้มีการพัฒนากิจการอวกาศให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน มีกลไกเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการอวกาศ และที่ก่อให้เกิดเศรษฐกิจอวกาศ
รวมทั้งการมีองค์กรกลางในการกำหนดนโยบายและแผนกิจการอวกาศของประเทศให้เกิดความเป็นเอกภาพ และที่ประชุมได้เห็นชอบแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Guideline) โดยสร้างขึ้นเพื่อให้ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้วิจัย ผู้ออกแบบ ผู้พัฒนา และผู้ให้บริการปัญญาประดิษฐ์ ใช้เป็นแนวทางสำหรับการดำเนินงานของตนเอง และให้ผู้รับบริการได้ทราบถึงสิทธิและตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงของการใช้บริการปัญญาประดิษฐ์ หน่วยงานรัฐและหน่วยงานกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ ทั้งระดับประเทศและระดับองค์กร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมสนับสนุน
160329740788
รวมถึงกำกับดูแลเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อทำให้ปัญญาประดิษฐ์มีความน่าเชื่อถือ มั่นคงปลอดภัย ได้รับการพัฒนาและใช้งาน ก่อให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยความโปร่งใส ครอบคลุมและเป็นธรรม สอดคล้องกับกฎหมาย จริยธรรมและสิทธิมนุษยชน และเห็นชอบร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  
ทางด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ กล่าวว่า จิสด้าได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ (กอช.) ให้จัดทำร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศ ซึ่ง (ร่าง) พ.ร.บ. กิจการอวกาศดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กอช. ที่มีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563 และวันนี้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ความเห็นชอบ (ร่าง) พ.ร.บ. ดังกล่าวแล้วเช่นเดียวกัน และให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาเพื่อประกาศใช้เป็นกฏหมายต่อไป
"ทั้งหมดนี้จะทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการลงทุนด้านอวกาศ มีนโยบาย หน่วยงานและกลไกที่ช่วยกำกับ และส่งเสริมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ สามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศด้านกิจการอวกาศมาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งมีการพัฒนาบุคลากรและมีการดำเนินการที่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งความสำคัญในการร่วมกันขับเคลื่อนและการพัฒนาประเทศไทยของเรา"