‘สบาย’ เติบโตกลางวิกฤติ ปักหมุดธุรกิจ 'สังคมไร้เงินสด'
“สบาย เทคโนโลยี” เร่งเครื่องเต็มสูบ แตกไลน์ธุรกิจโชว์ความสำเร็จ ปักเสาเข็มสู่การสร้างอีโคซิสเต็ม “สังคมไร้เงินสด” และ “นิวรีเทลโซลูชั่น” ทางเลือกใหม่ของค้าปลีกยุคนิวนอร์มอล ในวันที่ผู้บริโภคคือ “ผู้เลือก”
ผู้อยู่เบื้องหลัง “เติมสบายพลัส” หรือที่หลายคนคุ้นหูในชื่อ “ตู้เติมสบาย” ที่เริ่มเข้าสู่ตลาดตู้เติมเงินเมื่อปี 2558 พร้อมก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ในตลาดด้วยกลยุทธ์ป่าล้อมเมืองโดยเจาะพื้นที่ชุมชนในต่างจังหวัด ก่อนจะเข้ายึดพื้นที่กรุงเทพฯ กระจายไปตามห้างร้านก็ต้องมีการปรับตัวเช่นกัน ภายใต้การบริหารงานของ ชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ “SABUY”
มาวันนี้ ธุรกิจตู้เติมเงิน ได้กลายเป็นตู้รับชำระสารพัดค่าใช้จ่าย ทั้งยังได้รับการแต่งตั้งเป็น Banking Agent ปัจจุบันมีอยู่ 53,000 จุดทั่วประเทศ และมีศูนย์บริการ 13 แห่ง ซึ่งในอนาคตมีแผนการจะขยายปีละ 4-5 พันตู้
"หลายคนอาจจะมองว่าตู้เติมเงินอยู่ในช่วงขาลง แต่ในส่วนสบายฯ ยังรักษาการเติบโตได้ เนื่องด้วยจำนวนตู้ไม่มากจึงมีความคล่องตัว ขณะที่หลากหลายแบรนด์ต่างถอยออกจากธุรกิจตู้เติมเงิน จึงกลายเป็นโอกาสทองของเราที่จะทำตลาด”
ขณะเดียวกันสบายฯ ได้ต่อยอดธุรกิจตู้เติมเงินสู่ตู้เติม “บัตรแรบบิท” ที่ได้สัมปทานการจ่ายค่าโดยสารบนรถเมล์ ทางแรบบิทมีความต้องการที่จะพัฒนาตู้เติมบัตรแรบบิทให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น จึงได้ร่วมมือกับสบายฯ ทำการติดตั้งตู้ไปแล้ว 50-100 จุด และมีแผนจะขยายเพิ่มอีกจำนวนมาก
“เวนดิ้งแมชชีน” กลยุทธ์ค้าปลีกใหม่
ธุรกิจที่สองคือ ธุรกิจสู่ธุรกิจตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ที่เป็นอีกหนึ่งโมเดลทางธุรกิจของวงการค้าปลีก ซึ่งปัจจุบันมีตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ 5,648 ตู้ กระจายอยู่ใน 19 จังหวัดทั่วประเทศ มีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าและพัฒนาโดยคนไทย ชูจุดขายด้วยราคาสินค้าที่ต่ำกว่าร้านสะดวกซื้อ และความหลากหลายของสินค้า
ตลาด Vending Machine เติบโตแบบสวนกระแสในช่วงวิกฤติโควิด เรียกว่าเป็น New Retail Solution จากการประกาศล็อกดาวน์ที่ต้องปิดร้านค้าต่างๆ ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ จึงเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ ที่ตอบโจทย์ เพราะสามารถไปตั้งใกล้ลูกค้าได้โดยมีค่าดำเนินการไม่เกินจุดละ 5 พันบาท ก็เปิดการจำหน่ายได้ทันที
ปัจจุบันได้ผนึกพาร์ทเนอร์เพื่อนำสินค้าเข้าไปอยู่ใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น และตั้งเป้าที่จะขยายเป็น 7,000-7,200 ตู้ ภายในปี 2563 และคาดว่าสิ้นปี 2564 จะมีตู้ออกสู่ตลาดกว่า 12,000 ตู้ ทั้งนี้ การร่วมกับพาร์ทเนอร์ สบายฯจะได้ส่วนแบ่งรายได้เพราะมีการทำเป็นระบบ consignment ดังนั้นทำของขายได้เท่าไรก็จะแบ่งกำไรกัน ปัจจุบันสินค้าที่จำหน่ายผ่านตู้ Vending ของสบายฯ มีจำนวนหลายร้อย SKUs
ส่วนภาพรวมตลาดใน Next Normal ชูเกียรติ มองว่า ตลาดตู้ขายสินค้าอัตโนมัติมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น ซึ่งตลาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่ญี่ปุ่นโดยมีจำนวนกว่า 2.5 ล้านเครื่อง สำหรับประชากร 170 ล้านคน ส่วนประเทศไทยมีประชากรกว่า 70 ล้านคน แรงงานต่างชาติประมาณ 14 ล้านคน แต่ตู้ขายสินค้ามีเพียงแค่ 3 หมื่นเครื่อง ดังนั้น ตลาดนี้ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก และอีก 4-5 ปีข้างหน้าจะเห็นภาพของตู้ขายสินค้าจำนวนมาก เนื่องจากมีผู้เล่นรายสำคัญที่ออกมาผลักดันให้ตลาดนี้ใหญ่ขึ้น
POS ผู้ช่วยร้านอาหาร
ธุรกิจที่สาม คือ ธุรกิจให้บริการระบบการจัดการบริหารศูนย์อาหาร และระบบร้านอาหาร หรือ POS โดยมีศูนย์อาหารภายใต้การดูแลทั้งหมด 213 ศูนย์ ภายใต้บริษัท สบาย โซลูชั่นส์ จำกัด ซึ่งถือเป็นผู้นำด้านการจัดการศูนย์อาหารที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เช่น เทสโก้ โลตัส
“ระบบการจัดการบริหารศูนย์อาหาร เป็นในส่วนของการจัดการแบบครบกระบวน ตั้งแต่ Point of Sale System: POS ไปจนถึงตู้ออกบัตรการ์ด และเติมเงินได้ ทั้งยังมีฟีเจอร์ระบบจัดการสต็อก แสดงยอดขาย เรียกได้ว่าถูกสร้างขึ้น เพื่อช่วยเจ้าของศูนย์อาหารและร้านอาหารสามารถบริหารร้านได้ง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ส่วนระบบร้านอาหาร (Point of Sale System: POS) จะเป็น Payment Solution ให้กับร้านค้าขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อย อย่างเช่น อพาร์ทเมนท์ ที่เน้นการลดต้นทุน และนำข้อมูลมาต่อยอดทางธุรกิจ โดยภาพรวมแล้วทั้งสองระบบจะมีความเชื่อมโยงกัน จึงสามารถเป็นจุดยืนของเทคโนโลยีที่ตอบรับกับทุกระบบเพย์เมนท์ไม่ว่าจะเป็น ทรูมันนี่ แรบบิทไลน์เพย์ อาลิเพย์
วิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้บรรดาศูนย์อาหารจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อลดต้นทุน ดังนั้น ฟังก์ชั่นที่สบายฯ พัฒนาขึ้นก็จะมาตอบโจทย์ตรงจุดนี้ เพื่อให้ห้างสรรพสินค้า หรือ ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ มีต้นทุนที่ถูกลง POS จะเป็นในรูปแบบให้เช่าระบบ ที่จะได้ทั้งเครื่องและระบบซอฟต์แวร์ไปใช้งาน ซึ่งปัจจุบันนำร่องไปแล้ว 10 แห่ง
ธุรกิจล่าสุดคือ ธุรกิจให้บริการการชำระเงิน (Financial Service & Payment Facilities) ภายใต้ชื่อ “สบายมันนี่” ผู้บริการแพลตฟอร์มชำระเงินและเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money/ e-Wallet) คาดว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 ภายใต้ชื่อ บริษัท สบาย มันนี่ จำกัด
3 กลยุทธ์ยุคโควิดภิวัฒน์
ส่วนกลยุทธ์ทางการตลาดมุ่งกวาดลูกค้าของทุกพาร์ทเนอร์มารวมอยู่ที่สบายฯ โดยนำเสนอผลประโยชน์ในส่วนของลูกค้าที่เพิ่มจำนวนขึ้น ในขณะเดียวกัน สบายฯ ก็จะได้ฐานลูกค้าเพิ่มตามด้วย และด้วยอีโคซิสเต็มที่ชัดเจน กลยุทธ์จึงเป็นในเรื่องของ “ราคา” ซึ่งถ้าลูกค้าได้ในราคาที่ต่ำ บริการที่ดี และความรวดเร็วย่อมจะเกิดผลพวงที่ดีตามมาเช่นกัน
เมื่อถามว่าด้วยเหตุผลใดจึงเลือกเปิดตลาดในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้ ชูเกียรติ มองต่างไปว่า เพราะทุกคนหยุดขยาย จึงเป็นโอกาสที่จะบุกทำธุรกิจอย่างรวดเร็ว “ทุกวิกฤติย่อมมีคนล้ม จึงเป็นโอกาสทองผู้ที่รอด” เมื่อทุกคนเริ่มกลับมาลงทุน เมื่อนั้นกลายเป็นว่าสบายฯ ได้เป็นคนยึดหัวหาดเป็นที่เรียบร้อย พร้อมกับฉายภาพให้ทุกคนเห็นชัด ไม่ว่าจะเป็น สถาบันการเงิน ลูกค้า หรือพาร์ทเนอร์
“ดังนั้นเวลาที่พวกเขาจะเลือกโต เขาจะเลือกโตกับคนที่พร้อมที่สุดดั่งเช่นเรา” ชูเกียรติ กล่าว
เตรียมเสนอขายหุ้น IPO
ล่าสุด “สบายฯ ตั้งเป้าหมายจะเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการชำระเงินบริษัทแรก ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (MAI) ในกลุ่มธุรกิจบริการ โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญจำนวน 157.02 ล้านหุ้น หรือ 15.62% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วหลัง IPO ที่ 1,005 ล้านบาท (Par 1 บาท) แก่นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน
โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายกิจการต่างๆ เพื่อสร้างการเติบโต ให้บริษัทฯอย่างต่อเนื่อง โดยมีนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษี เงินได้นิติบุคคลและเงินสำรองต่างๆตามกฎหมาย
ทั้งนี้ปัจจุบัน บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ “SABUY” จะมีทุนจดทะเบียนภายหลัง IPO กว่า 1,005 ล้านบาท มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 39.3% มีอัตรากำไรสุทธิสูงถึง 6.4% และ มีอัตราหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนต่ำเพียง 0.60 เท่า จึงมีโอกาสในการขยายกิจการตามแผนธุรกิจอีกมาก โดยมีแผนที่จะเข้าตลาดในช่วงเดือน พ.ย.
“เป้าหมาย” การลงทุน เมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์
ส่วนแผนในการเข้าสู่ IPO มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินลงทุนไปใช้ใน 2 ส่วนหลัก คือ 1.การลงทุนในธุรกิจเพื่อขยายอีโคซิสเต็ม อย่าง Vending Machine รวมไปถึง POS และ 2.ลงทุนในเทคโนโลยีในการสร้างแพลตฟอร์ม สร้าง Efficiency ให้กับคู่ค้าและลูกค้า รวมไปถึงสร้างการจัดการภายในที่ทำให้เราบริหารต้นทุนเรื่องคนให้ได้น้อยที่สุด
"เพราะท้ายสุดแล้วการเข้า IPO จะเป็นการตอกย้ำให้คู่ค้า และลูกค้าเชื่อมั่นในตัวเรามากยิ่งขึ้น" ชูเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย