เผย 4 คีย์เวิร์ด เจาะเทรนด์เแพ็กเกจจิ้งแห่งปี 64
เจาะ 4 คีย์เวิร์ดเแพ็กเกจจิ้งปี 2564 ครองใจผู้บริโภคยุคใหม่ หนทางสายใหม่สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เน้น “กินได้ - สร้างสรรค์ - ไบโอ - รีไซเคิล" ตอบโจทย์วิถีนิวนอร์มอลในยุคที่แม้แต่ "บรรจุภัณฑ์" ก็ต้องไม่เหมือนเดิม
เป็นที่ทราบกันดีว่า มีเพียงไม่กี่อุตสาหกรรม ที่สามารถเติบโตฝ่ากระแสการแพร่ระบาดของโควิด-19 หนึ่งในนั้นคือ “อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์” ที่ปัจจุบันมีการเติบโตคู่ขนานกันมาอย่างต่อเนื่อง อันจะเห็นได้จาก รูปแบบที่หลากหลายของผลิตภัณฑ์ วัสดุแปลกใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้น รวมทั้ง การปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละยุคสมัย จากวัสดุที่เป็นไม้ พัฒนามาเป็นโลหะ เปลี่ยนมาใช้พลาสติก และปัจจุบันก็หันกลับมาใช้วัสดุธรรมชาติ ซึ่งล้วนแล้วพัฒนามาไม่เพียงเพื่อรูปลักษณ์ที่สวยงานแต่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ในฐานะหน่วยงานที่เข้าใจภาพรวมของอุตสาหกรรม ทิศทางการเปลี่ยนแปลงผู้บริโภค จึงได้เปิดเผยถึงแนวโน้มของเทรนด์บรรจุภัณฑ์ในปี 2564 ที่เป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ผ่าน 4 องค์ประกอบสำคัญ ประกอบด้วย
1.บรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์ ที่เน้นแข่งขันกันในด้านของความสร้างสรรค์และพัฒนาให้บรรจุภัณฑ์สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ในรูปแบบสิ่งของ หรือแม้แต่ต่อยอดให้สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้านได้อีกด้วย นั่นจึงถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ภาคอุตสาหกรรมไม่ควรมองข้าม ยกตัวอย่างเช่น บรรจุภัณฑ์ขนมไหว้พระจันทร์ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัล President Awards จากการประกวดบรรจุภัณฑ์ดีเด่น ประจำปี 2563 ที่นอกจากจะเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับขนมแล้ว ยังนำไปใช้เป็นลิ้นชักใส่เครื่องประดับ หรือ เป็นอุปกรณ์ตกแต่งบ้านได้อีกด้วย
2.บรรจุภัณฑ์ไบโอ หรือบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ 100% ถือเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์ ขยะล้นโลก ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ทั่วโลกกลับมาตระหนักถึงปัญหานี้ จนนำมาสู่การวิจัยและพัฒนาพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ หรือที่เรียกว่า ไบโอพลาสติก (Bioplastic) ในช่วงที่ผ่านมา จึงจะเห็นได้ว่าบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้เองนั้น ถือเป็นการลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และปริมาณขยะจากการใช้พลาสติกได้เป็นอย่างดี
3.บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล ปัจจุบัน มีการนำขยะมารีไซเคิล เป็นจำนวนมาก ทั้งขยะพลาสติก โลหะ ขยะอีคอมเมิร์ซ อาทิ กระดาษจากกล่องบรรจุสินค้าออนไลน์ และ กล่องไปรษณีย์ ที่มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณขยะประเภทกระดาษมากยิ่งขึ้น ซึ่งภาคอุตสาหกรรม สามารถนำไปรีไซเคิลเพื่อก่อให้เกิดบรรจุภัณฑ์ใหม่ ที่สอดคล้องกับเทรนด์รักษ์โลก หรืออาจนำบรรจุภัณฑ์กระดาษไปพัฒนาเป็นสินค้าใหม่ ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะได้อีกทางหนึ่ง อาทิ การนำกระดาษรีไซเคิลมาเป็นขวดบรรจุภัณฑ์ของ Carlsberg และ โต๊ะเรียนหนังสือจากล่องไปรษณีย์ไทย เป็นต้น
4.บรรจุภัณฑ์กินได้ เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่ได้ให้ความสำคัญกับการหันมาใส่ใจและดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ในประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกและโฟมมากถึง 2.7 ล้านตัน ดังนั้น แม้ว่าหลายธุรกิจจะปรับตัวมาใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติมากขึ้นแล้ว แต่ก็ถือได้ว่ายังเป็นการทำร้ายสิ่งแวดล้อมทางอ้อมอยู่ดี ดังนั้น หากบรรจุภัณฑ์สามารถรับประทานได้ จะช่วยให้ปริมาณขยะลดลง อย่างเช่น ฟิล์มแคร์รอต ผลงานการวิจัยจาก กรมวิชาการเกษตรที่สามารถรับประทานได้ ทั้งยังมีสารเบต้าแคโรทีนอีกด้วย (beta-Carotene)
ปัจจุบันอุตสาหกรรมในกลุ่มบรรจุภัณฑ์จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 14,253 ล้านบาท ซึ่งหากได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ก็จะสามารถสร้างมูลค่าที่เพิ่มมากขึ้น และยังเป็นการดึงดูดผู้บริโภคยุคใหม่ได้อีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน