‘ทริปเปิ้ลเอฯ’ ขยับรุกเอจีวี อิงเทรนด์โควิดหนุนโต
วิกฤติโควิด-19 เปิดโอกาสให้นวัตกรรมไทยได้แจ้งเกิดหลายตัว หนึ่งในนั้นคือ “รถเคลื่อนที่อัตโนมัติ” (AGV) ที่ช่วยลดภาระงานเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ลดต้นทุนการใช้ชุด PPE และสำคัญสุดคือลดเสี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกับผู้ป่วย
โดยทั่วไปแล้วจะพบเห็น AGV ในโรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้าเป็นหลัก เกือบทั้งหมดเป็นสินค้านำเข้าที่มีราคาค่อนข้างสูง ส่วนในไทยก็ยังไม่มีการผลิตเอจีวีในระดับอุตสาหกรรม ขณะที่ความต้องการใช้งานเพิ่มขึ้นชัดเจน ด้วยเหตุนี้ “พงษ์เจริญ รัชตะธรรมสุข”กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริปเปิ้ล เอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ ซัพพลาย จำกัด เดินหน้าแตกไลน์ธุรกิจสู่รถเอจีวี พร้อมส่งชิมรางตลาดด้วยโปรเจค “รถเคลื่อนที่อัตโนมัติ” ประเภทนำทางด้วยเส้น ทำหน้าที่ขนส่งสิ่งของและอาหารในโรงพยาบาลชลบุรี
เบนเข็มรุกตลาดใหม่
พงษ์เจริญ ที่มีแบ็คอัพเป็นธุรกิจโรงกลึงของครอบครัว สังเกตพบความต้องการของลูกค้าซับซ้อนมากขึ้น จึงได้รวบรวมประสบการณ์ความรู้ในการทำงานสู่ธุรกิจให้คำปรึกษา ออกแบบ ผลิตชิ้นส่วน สร้างเครื่องจักรและติดตั้งระบบอัตโนมัติแบบครบวงจร รวมถึง รับจ้างผลิตให้กับบริษัทชั้นนำในนิคมอุตสาหกรรม จนถึงปัจจุบันดำเนินธุรกิจมาแล้วกว่า 15 ปี กระทั่งปี 2561 เริ่มมองหาช่องทางธุรกิจใหม่โดยพิจารณาจากทรัพยากรที่มีในบริษัท และพบว่าแนวโน้มความต้องการ AGV มีมากขึ้นเพื่อช่วยการลำเลียง ขนย้ายสินค้า
เขาตัดสินใจขอรับการสนับสนุนจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โครงการแรกเป็นการวิจัยตลาดเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนผลิต กระบวนการผลิต เทคโนโลยี ตลอดจนการจัดจำหน่ายและการบริหารความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ
การศึกษาใช้เวลา 8 เดือนกระทั่งได้ผลสรุปว่า ตลาดเอจีวีมีความต้องการสูงและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเปรียบเสมือน “บลูโอเชี่ยน” (Blue Ocean)ในการแสวงหาตลาดใหม่ที่การแข่งขันยังต่ำ พงษ์เจริญ ให้เหตุผลว่า “ธุรกิจรับจ้างผลิตนั้นเปรียบเสมือนเรดโอเชี่ยน (Red Ocean) ที่มีการแข่งขันสูง ตัดราคาอยู่บ่อยครั้ง และหากไม่มีโปรดักเป็น Core Business ในอนาคตจะอยู่ยาก"
เซฟต้นทุนลดการนำเข้า
พงษ์เจริญ กล่าวว่า หลังจากผลการวิจัยได้ข้อสรุปสิ่งที่ลูกค้าต้องการคือ 1.ราคาเอื้อมถึงได้ 2.คุณภาพดี แข็งแรงทนทาน 3.ฟังก์ชั่นการใช้งานที่ครบครัน และ 4.บริการหลังการขาย จึงมีแนวคิดที่จะผลิตและจำหน่ายรถเคลื่อนที่อัตโนมัติ เพื่อขนส่งสินค้าภายในอาคาร ออกมาทดสอบตลาดเป็นอันดับแรก โดยพิจารณาจากทรัพยากรที่มีอยู่ เช่น ทีมงานการออกแบบรวมถึงเครื่องจักร
จึงเป็นที่มาของการขอรับการสนับสนุนจากโปรแกรมไอแทป สวทช.โครงการที่ 2 ในเรื่องของคำปรึกษารวมถึงข้อมูลทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับอุปกรณ์การผลิต พร้อมกับช่องทางการจัดซื้อเพื่อประหยัดต้นทุน และให้ได้มาซึ่งการผลิตต้นแบบที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ภายใต้ระยะเวลาโครงการ 1 ปี
ประจวบเหมาะกับช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางโรงพยาบาลชลบุรีได้ยื่นความประสงค์ที่จะขอรับบริจาค AGV จึงทำการพัฒนารถเคลื่อนที่อัตโนมัติประเภทนำทางด้วยเส้น เพื่อใช้ลำเลียงเวชภัณฑ์และสิ่งของต่างๆ ภายใต้ชื่อหุ่นยนต์ CAT1 รองรับน้ำหนักได้สูงถึง 300 กิโลกรัม
"จากการนำผลงานไปทดสอบใช้จริงในโรงพยาบาลชลบุรี พบว่าสามารถช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะในส่วนของการนำอาหารหรือสิ่งของต่างๆ ส่งให้ผู้ป่วย อีกทั้งลดการใช้ชุด PPE อุปกรณ์ต่างๆ และยังช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค ทั้งนี้ บริษัทยังคงมีแผนการที่จะพัฒนาเอจีวีใช้ในโรงพยาบาล ในเชิงพาณิชย์ด้วยเช่นกันในระดับราคาประมาณ 3 แสนบาท”
เมื่อถามถึงความต้องการใช้งานในปัจจุบัน ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่ทุเลาลงนั้น พงษ์เจริญ บอกว่า ความต้องการเอจีวีในเซกเตอร์ของโรงพยาบาลยังคงมีอยู่ เนื่องจากสามารถบูรณาการนำไปใช้ในเคสของโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น วัณโรค เฟสถัดไปจะพัฒนา ต่อ ยอดสู่ระบบเคลื่อนที่แบบไร้เส้น (Trackless Navigation) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างวิจัยและพัฒนาตัวต้นแบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จและทดลองใช้งานได้ประมาณไตรมาส 3 ปี 2564
ต้นปีหน้าเสิร์ฟอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกันยังได้พัฒนาอีกหนึ่งต้นแบบที่ใช้ในสเกลอุตสาหกรรม สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 500 กิโลกรัม ติดตั้งระบบนำทางแบบไร้เส้นที่ต้องสแกนพร้อมสร้างแผนที่ก่อน จึงจะสามารถกำหนดพิกัดจุดจอดและทำงานได้ เหมาะกับการใช้งานที่ต้องเปลี่ยนแปลงจุดรับส่งบ่อย สามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ โรงงาน โรงพยาบาล คลังสินค้า ช่วยลดภาระพนักงานในการขนส่ง
ปัจจุบันการพัฒนาต้นแบบดังกล่าวนี้เกือบจะสำเร็จ 100% เหลือเพียงการพัฒนาโปรแกรมควบคุมและจัดการ คาดว่าภายในต้นปี 2564 จะสามารถจำหน่ายออกสู่ตลาด ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้คือ สนามบิน อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมขนส่ง และธุรกิจด้านสุขภาพ