'สถานีวิจัยลำตะคอง' ต้นน้ำถ่ายทอดเทคโนโลยี สู่เกษตรกรอีสาน
“เอนก” ชูสถานีวิจัยลำตะคอง/สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชของ วว. เป็นแหล่งต้นน้ำงานวิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรม สู่พี่น้องเกษตรกรในภาคอีสาน พร้อมดันเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของประเทศ ยกระดับสู่ศูนย์กลางความหลากหลาย
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมคณะลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงาน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในส่วนของหน่วยงานภูมิภาค ได้แก่ สถานีวิจัยลำตะคอง และสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช โดยมี ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ผู้บริหารและบุคลากรร่วมให้การต้อนรับพร้อมนำชมผลสำเร็จการดำเนินงานนำ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ผู้ประกอบการ SMEs อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
หลังการตรวจเยี่ยม ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า การตรวจเยี่ยม วว. วันนี้ เป็นการตรวจเยี่ยมอย่างเป็นทางการที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นครั้งแรก ในฐานะที่มาดำรงตำแหน่ง รมว.อว. ซึ่งเห็นว่า อว. มีหน่วยงานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนครราชสีมาจำนวนมาก ทั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน รวมไปถึงที่สำคัญยังมี สถานีวิจัยลำตะคองและสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ที่เป็นหน่วยงานภูมิภาคของ วว. ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรมสู่พี่น้องเกษตรกรในภาคอีสาน รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
หากแต่ว่าทรัพยากรเหล่านี้ไม่ได้เป็นของ อว. เท่านั้น ขอให้จังหวัดนครราชสีมาถือว่าทรัพยากรทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดและของภาคอีสาน รวมไปถึงของประเทศที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ทั้งการท่องเที่ยวเชิงวิชาการ หรือการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่น ซึ่งต้องการให้ วว. ประสานความร่วมมือกับทางจังหวัดจัดให้คนโคราช รวมถึงคนในภาคอีสานได้เข้ามาใช้ประโยชน์ เช่น มีโอกาสพิเศษในการเข้าชมแหล่งเรียนรู้และสถานีวิจัยของ วว. เชื่อมโยงไปถึงการใช้ประโยชน์ในการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างนวัตกรรม ให้แก่ชุมชนผ่านการวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม
"ประเทศไทยมีจุดเด่นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การสร้างเศรษฐกิจจากจุดเด่นดังกล่าวคือการขับเคลื่อน BCG Economy ตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ วว. ใช้จุดเด่นของสถานีวิจัยลำตะคองและสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ทำให้เป็นศูนย์กลางหรือเมืองหลวงของความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ จากนั้นจึงไปเชื่อมโยงกับป่าลุ่มน้ำอะเมซอนในอเมริกาใต้ ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพที่แตกต่างจากไทยและจะทำให้โลกได้รู้จักประเทศไทยมากขึ้น"
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานีวิจัยลำตะคอง มีเนื้อที่ 740 ไร่ ตั้งอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา มุ่งดำเนินงานนำองค์ความรู้ด้าน วทน. ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร พร้อมทั้งพัฒนาขีดความสามารถการผลิต เน้นการลดต้นทุน การพัฒนาด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร การยกระดับมาตรฐานสินค้า การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิจัยทั้งภายในและภายนอก รวมถึงเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและการเรียนรู้ทางด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช เกษตรอินทรีย์ การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ความหลากหลายทางชีวภาพด้านแมลงที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม และการวิจัยต่อยอดการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพบนองค์ความรู้ของเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio-Economy)
"โดย “สถานีวิจัยลำตะคอง” ถือเป็นแหล่งต้นน้ำงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรม ของ วว. สู่พี่น้องเกษตรกรในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างเศรษฐกิจไทยให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านเกษตรและพฤกษศาสตร์แห่งใหม่ของประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีบทบาทสำคัญด้านวิจัยและพัฒนาการเกษตร วนเกษตร พฤกษศาสตร์ รองรับการพัฒนางานวิจัย วว. เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานชีวภาพ หรือ Bio- based Economy จึงถือเป็นแหล่งต้นน้ำในการสร้างสรรค์ให้เกิดงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางเกษตร อุตสาหกรรม อาหารของประเทศไทย"
ตัวอย่างผลงานสำคัญที่กำลังดำเนินงาน อาทิ ธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อชุมชน การส่งเสริมเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจในระบบโรงเรือนมาตรฐาน การเพาะปลูกพืชพื้นบ้านตามระบบการผลิต GAP การพัฒนาต้นแบบการเพาะปลูกพืชและเห็ดในป่าครัวเรือน ป่าชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เป็นต้น ภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ชุมชน รอบสถานีฯ และพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เทคโนโลยีการปลูกและแปรรูปผักหวานป่า การปลูกผักกูดเป็นการค้า การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การผลิตและการใช้ประโยชน์จากบล็อกประสาน วว.
รวมถึงเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ด้านสมุนไพร โดยเป็นที่ตั้งของสวนสมุนไพร วว. เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพิพิธภัณฑ์พืชสมุนไพร นอกจากนั้นยังให้บริการสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวกในการประชุม/ฝึกอบรม และสัมมนาให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน
ผู้ว่าการ วว. กล่าวต่อว่า สำหรับสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชหรือแหล่งสงวนชีวมณฑลสะแกราชนั้น มีเนื้อที่ทั้งหมด 78.08 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 48,800 ไร่ ก่อตั้งเมื่อปี 2510 มีภารกิจการวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา ปัจจุบันมีผลงานวิจัยในพื้นที่แห่งนี้มากกว่า 500 เรื่อง ทั้งนี้ในปี 2519 สถานีฯ ได้รับการรับรองจาก UNESCO ภายใต้โครงการ MAB (Man and Biosphere Program) ให้เป็นแหล่งสงวนชีวมณฑลแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 7 แห่งของเอเชียในขณะนั้น
ปัจจุบันสถานีฯ มีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดปีละ 146,059 ตันต่อปี ประกอบด้วย 1)ป่าดิบแล้ง ดูดซับได้ 3.26 ตัน/ไร่/ปี พื้นที่ 26,474 ไร่ ดูดซับได้ปีละ 86,305 ตัน 2) ป่าเต็งรัง ดูดซับ 2.84 ตัน/ไร่/ปี พื้นที่ 7,373 ไร่ ดูดซับได้ 20,939 ตัน 3) ป่าปลูก ดูดซับได้ 3.23 ตัน/ไร่/ปี พื้นที่ 12,028 ไร่ ดูดซับได้ 38,850 ตัน ทั้งนี้ในปี 2562 สถานีฯ ได้รับรางวัลสำนักงานสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระดับดีเยี่ยม จากการพิจารณาคัดเลือกของ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“ผลการดำเนินงานของสถานีวิจัยทั้ง 2 แห่ง หน่วยงานในส่วนภูมิภาคของ วว. แสดงให้เห็นถึงการใช้ วทน. จากงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และชุมชนอย่างยั่งยืน” ชุติมา กล่าวสรุป