เอ็นไอเอ-ซินโครตรอน หนุนธุรกิจนวัตกรรม ดึง “แสงซินโครตรอน” เสริมแกร่งวิจัยเอกชน
'เอ็นไอเอ' ร่วม 'ซินโครตรอน' หนุนสร้างธุรกิจนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีเชิงลึกระดับภูมิภาค
ตั้งเป้าขับเคลื่อนการใช้ “แสงซินโครตรอน” เสริมแกร่งงานวิจัยในธุรกิจเอกชน
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หรือ สซ.ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือด้านการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกในระดับภูมิภาค เพื่อกระจายโอกาสการเข้าถึงนวัตกรรมและนำไปต่อยอดธุรกิจในท้องถิ่น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ ก่อให้เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้ นำไปสู่ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภูมิภาคและสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่ยั่งยืน
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เอ็นไอเอ มุ่งเน้นเสริมสร้างความสามารถทางนวัตกรรมทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี และบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมของประเทศให้เข้มแข็ง รวมถึงขยายโอกาสการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมในระดับภูมิภาค ผ่าน “การพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่” ครอบคลุมทั้งระดับย่าน เมือง และภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมาได้ริเริมการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกระดับภูมิภาค (Deep-Tech Regionalization) ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้สนับสนุนไปจำนวน 4 โครงการ มูลค่าการสนับสนุน 3.2 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุน 18 ล้านบาท ได้แก่ น้ำยาคัดแยกเพศอสุจิโคนม ระบบการจัดการคลังสินค้าอย่างชาญฉลาด แพลตฟอร์มสำหรับการตรวจคุณภาพอสุจิเพิ่มอัตราการผสมติดของปศุสัตว์เพศเมีย และแพลตฟอร์มสำหรับตรวจจับการเป็นสัดในโคนม เป็นต้น
"สำหรับการลงนามในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นในการร่วมรังสรรค์ สนับสนุน และส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกในระดับภูมิภาค พร้อมทั้งสร้างโอกาสการขยายผลโครงการนวัตกรรมที่เกิดจากการความร่วมมือระหว่างทั้งสองหน่วยงาน ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถและความเข้มแข็งด้านนวัตกรรมของธุรกิจระดับภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน" พันธุ์อาจ กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช รุจิวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หรือ สซ. เปิดเผยว่า สซ. เป็นสถาบันให้บริการแสงซินโครตรอนเพื่อการวิเคราะห์วิจัยมากว่า 10 ปี ด้วยคุณสมบัติพิเศษของแสงซินโครตรอนที่สามารถวิเคราะห์ตัวอย่างได้ลึกถึงในระดับอะตอมและโมเลกุล มีอำนาจทะลุทะลวงสูง และไม่ทำลายสารตัวอย่าง รวมถึงสามารถวิเคราะห์ได้แม้สารที่ต้องการวิเคราะห์นั้นมีอยู่ปริมาณน้อยมากๆ จึงตอบโจทย์ได้ทั้งงานวิจัยภาควิชาการ และงานทางด้านอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ สถาบันฯ มีความพร้อมทั้งด้านเครื่องมือและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญที่สามารถให้บริการวิจัยร่วมกับภาคเอกชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ SMEs และผู้ประกอบในส่วนภูมิภาค การลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในครั้งนี้ ถือเป็นการร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสนันสนุนและส่งเสริมภาคเอกชนให้มีความเข้มแข็งด้านงานวิจัยโดยการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Technology) อย่าง “เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน” เพื่อตอบโจทย์และสนันสนุนผู้ประกอบการรายย่อยในส่วนภูมิภาคให้ทั่วถึง”