ม.อ.ชู ‘Chilica-Pod’ ตรวจความแซ่บ! ของพริกง่าย ด้วยสมาร์ทโฟน

ม.อ.ชู ‘Chilica-Pod’ ตรวจความแซ่บ! ของพริกง่าย ด้วยสมาร์ทโฟน

ม.สงขลานครินทร์ พัฒนาอุปกรณ์ไฮเทค ‘Chilica-Pod’ นวัตกรรมใหม่ตรวจปริมาณสารแคปไซซิน (Capsaicin) ที่อยู่ในพริกทุกชนิด “วิเคราะห์ความเผ็ดของพริกบนสมาร์ทโฟน” ได้แม้เจือจางชูแม่นยำสูง ใช้ง่าย ราคาถูก หวังยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร-ยาและเฮลธ์เทคของไทย

รศ.ดร.วรากร ลิ่มบุตร นักวิจัยสาขาเคมีวิเคราะห์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ล่าสุด คณะทีมวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ได้วิจัยและพัฒนา เครื่องวัดสารให้ความเผ็ดในพริกแบบพกพา นวัตกรรมใหม่ที่เข้ามาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยาและเฮลธ์เทค (Healthtech) ของประเทศไทยให้ดีขึ้น  

160562711966

"ซึ่งการวิจัยและพัฒนเครื่องวัดสารให้ความเผ็ดในพริก เป็นการวัดปริมาณแคปไซซิน (Capsaicin) ที่อยู่ในพริก ซึ่งเป็นสารที่มีทั้งคุณประโยชน์และโทษต่อร่างกาย เมื่อผู้บริโภครับประทานสารชนิดนี้ที่มีอยู่ในพริกเข้าไป จะทำปฏิกิริยากับเส้นประสาทและส่งสัญญาณเดียวกันนี้ไปยังสมอง ทำให้รู้สึกเหมือนมีอะไรที่ร้อนๆในปาก ซึ่งผู้ที่แพ้สารแคปไซซิน อย่างรุนแรง อาจเกิดแผลพุพองในคอ อาเจียน และเกิดการช็อกหากแพ้อย่างรุนแรง"

ดังนั้น อุปกรณ์ดังกล่าว จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมยา ให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้พริกที่มีสารแคปไซซินในปริมาณที่เหมาะสม รวมทั้งยังส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่ต้องการดูแลสุขภาพ โดยการตรวจหาปริมาณสารแคปไซซิน (Capsaicin) นั้น สามารถนำพริกแห้งที่ต้องการทราบความเผ็ดร้อนมาผสมกับแอลกอฮอล์ให้สารแคปไซซินละลายออกมา จากนั้นเสียบแผ่นตรวจจับสารเคมีเข้ากับตัวเครื่อง

160562713618

แล้วนำสารละลายที่ได้ไปหยดบนแผ่นตรวจจับสารเคมี สารแคปไซซินจะทำปฏิกิริยากับแผ่นตรวจจับสารเคมี เกิดเป็นกระแสไฟฟ้า ยิ่งมีแคปไซซินเป็นจำนวนมาก ก็จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้ามากขึ้น โดยทางม.อ.ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น Chilica-Pod  ขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อรองรับกับผลการวิเคราะห์บนสมาร์ทโฟน ทำให้อ่านค่าความเผ็ดของพริกบนสมาร์ทโฟนได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว

รศ.ดร.วรากร กล่าวเสริมว่า จุดเด่นของเครื่อง Chilica-Pod  สามารถวิเคราะห์ความเผ็ดร้อนของพริกได้ทุกชนิด วิธีการใช้งานสามารถตรวจวัดความเข้มข้นของแคปไซซินได้ถึง 0.37 μM ในตัวอย่างที่เจือจางซึ่งมีความแม่นยำสูง ซึ่งได้รับการตีพิมพ์จากวารสาร ACS Applied Nano Materials และตรวจได้ทันทีโดยไม่ต้องพึ่งผลทางห้องปฏิบัติการที่มีค่าใช้จ่ายสูงอีกด้วย

โดยนวัตกรรมนี้ เหมาะกับอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมยาที่ต้องการวัดปริมาณความเผ็ดของพริกก่อนนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านต่างๆ รวมทั้งยังเป็นอุปกรณ์เฮลธ์เทค (Healthtech)  เหมาะกับกลุ่มที่ต้องการดูแลสุขภาพ ขณะที่การดีไซน์ให้มีลักษณะเหมือนพริก สามารถเสียบเข้ากับสมาร์ทโฟนด้วยช่อง USB-C โดยเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะสำหรับการพกพา

160562715830