มช. นำ VR พลิกโฉมการเรียนรู้แห่งโลกเสมือนจริง
คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอบโจทย์การศึกษายุค 4.0 โดยการนำเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) นำมาใช้ในการเรียนการสอน แบบ active learning
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนับเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการจัดการศึกษา ซึ่งไม่เพียงแต่มุ่งเน้นในการให้ความรู้แก่ผู้เรียนเท่านั้น แต่จำเป็นจะต้องปรับกระบวนการเรียนการสอนโดยนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มสมรรถนะ สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลายให้กับผู้เรียน และส่งเสริมให้เกิดทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอบโจทย์การศึกษายุค 4.0 โดยการนำเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) นำมาใช้ในการเรียนการสอน แบบ active learning ที่ให้ผู้เรียนมีประสบการณ์จากการจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริง นำมาสู่การสร้างบทเรียน ที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจถึงผลการตัดสินใจและการออกแบบธุรกิจ ได้อย่างเหมาะสม และเพื่อให้เกิดการบูรณาการการเรียนรู้อย่างสมบูรณ์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย รศ.ดร. สิริวุฒิ บูรณพิร คณบดีคณะบริหารธุรกิจ ได้ริเริ่มแนวคิดในการนำเทคโนโลยี Virtual Reality หรือ VR มาเป็นส่วนหนึ่งของสื่อการสอนผ่านการเรียนในโลกเสมือนจริง ทั้งระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้เรียนรู้กระบวนการการประกอบธุรกิจจริงก่อนเรียนภาคทฤษฎี และจะต้องได้รับโอกาสในการศึกษาดูงานธุรกิจ 4 ประเภทได้แก่ ธุรกิจโรงงานผลิต ธุรกิจบริการ ธุรกิจซื้อมาขายไป และธุรกิจเกิดใหม่
คณะได้นำเทคโนโลยี VR มาใช้ในหลักสูตรของ 4 ภาควิชา คือ ภาควิชาการจัดการและการเป็นผู้ประกอบการ ภาควิชาการตลาด ภาควิชาการเงิน ภาควิชาการบัญชี จำนวน 26 คอนเทนต์ โดยสร้างบทเรียนจากธุรกิจจริง ในรูปของการนำชมส่วนต่างๆ ของกิจการ และในรูปของกรณีศึกษา โดยออกแบบมาเพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการนำไปใช้ในการเรียนการสอนและรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคต ซึ่งมีแบบฝึกหัดและโจทย์คำถามให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ เป็นจุดๆ ตลอดระยะเวลาของเนื้อหา ในรูปแบบ ของ Online Content ผ่านซอฟต์แวร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยประสาทสัมผัสต่างๆ มากกว่าการได้ยินและมองเห็น สร้างความตื่นเต้น ท้าทาย รวมทั้งประสบการณ์ ให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเต็มศักยภาพ
นอกเหนือจากด้านการเรียนรู้แล้ว VR ยังช่วยลดปัญหาการพานักศึกษาเดินทางออกนอกสถานที่ รวมถึงการหาสถานประกอบการที่สามารถรองรับนักศึกษาได้จำนวนมาก ลดความเสี่ยงในการเดินทาง หรือในภาวะที่ COVID-19 ยังแพร่ระบาดอยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการนำ VR มาใช้ในการเรียนรู้ อาจไม่เหมาะสำหรับนักศึกษาทุกคนเช่น นักศึกษาที่มีปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความผิดปกติทางสายตา เป็นต้น
การผลักดันการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการเรียนการสอน เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด และเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษา พร้อมรับกับรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายในยุคดิจิทัล และด้วยคุณสมบัติของ VR จึงถือเป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบการเรียนการสอน สร้างทักษะที่จำเป็นให้นักศึกษาต่อการทำงานในโลกแห่งความเป็นจริง และสอดคล้องกับการเติบโตของสังคมในโลกอนาคต