'จิสด้า' เปิดบ้านดันผู้ประกอบการไทย สู่ 'อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ'

'จิสด้า' เปิดบ้านดันผู้ประกอบการไทย สู่ 'อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ'

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เดินหน้าจัดสัมมนา "Clustering the Aerospace and Satellite In-country Manufacturing" เพื่อผลักดันการรวมกลุ่มผู้ประกอบการไทยสู่อุตสาหกรรมทางด้านแอโรสเปซอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามารถ ผลักดัน สนับสนุนและขับเคลื่อนผู้ประกอบการไทยให้สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมทางด้าน Aerospace โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตและพัฒนาชิ้นส่วนดาวเทียมดวงเล็ก หรือ Small Satellite System ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการเพิ่มความสามารถในการผลิตชิ้นส่วน หรือ ดาวเทียมให้กับประเทศไทยภายใต้โครงการ THEOS – 2


160691830923
โดยร่วมกับพันธมิตรได้แก่ บริษัท Surrey Satellite Technology หรือ SSTL ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้ Airbus Defence and Space รวมไปถึงวิศวกรของ GISTDA ที่ปฏิบัติหน้าที่และเข้ารับการอบรมในการผลิตและประกอบดาวเทียม ณ SSTL ประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ยังร่วมกับหน่วยงานและสมาคมในประเทศ ได้แก่ สถาบันยานยนต์ และสมาคมอุตสาหกรรมอากาศยานไทย (TAMIA) 
ซึ่งการสัมมนาดังกล่าวจะเป็นเวทีในการสำรวจและแสวงหาผู้ประกอบการไทยที่มีคุณสมบัติและข้อกำหนดตรงตามเงื่อนไขการเข้าสู่อุตสาหกรรม Aerospace ที่กำหนดไว้ นับเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมผู้ประกอบการให้เข้าสู่อุตสาหกรรม Aerospace อีกทั้งยังก่อให้เกิดการพัฒนาแบบผสมผสานระหว่างอุตสาหกรรมต่างสาขา ทำให้เกิดการต่อยอดอย่างไม่มีที่สิ้นสุดและนำแนวคิดใหม่ๆ จากอุตสาหกรรมอื่นมาใช้เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือการนำวัตถุดิบจากอุตสาหกรรมหนึ่งไปพัฒนาผสมผสานในอุตสาหกรรมอีกอันหนึ่งจนออกมาจนทำให้เกิดรูปแบบของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมของประเทศไทยจนนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม Aerospace อย่างเป็นรูปธรรม 

160691837768

ดร.ปกรณ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากผู้ประกอบการจะได้รับความรู้และแนวทางในการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม Aerospace แล้ว ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม Aerospace ของประเทศไทยในหลายด้าน อย่างบริษัท บูโร เวอริทัส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท สหมิตรเครื่องกล จำกัด (มหาชน) รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ซักถามข้อสงสัยถึงแนวทางในการยกระดับอุตสาหกรรมของไทยให้เป็นอุตสาหกรรมขั้นสูง

ซึ่งการจัดงานสัมมนาดังกล่าวเห็นได้ชัดว่ามีผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ราย ได้รับโอกาสและมีส่วนร่วมในการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม นับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถและศักยภาพในการพัฒนาความร่วมมือของกลุ่มผู้ประกอบการจนนำไปสู่ความสำเร็จร่วมกันในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมทั้งชิ้นส่วนโลหะ คอมโพสิท และชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิค เพื่อยกระดับสู่มาตรฐานและการยอมรับในระดับสากลต่อไป 

160691840317