'ระบบอัตโนมัติ’ ตัวแปรความสำเร็จ ยุค ‘ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น’

'ระบบอัตโนมัติ’ ตัวแปรความสำเร็จ ยุค ‘ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น’

ระบบอัตโนมัติคือ “สิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สำคัญมาก” (boardroom imperative) ของทุกอุตสาหกรรมและทุกภูมิภาค

องค์กรในอาเซียนให้ความสำคัญและเทความสนใจไปกับ “ออโตเมชั่น” หรือ “ระบบอัตโนมัติ” อย่างมาก แต่คำถามคือในภาวะที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ทั้งด้านเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโรค การนำระบบอัตโนมัติไปใช้ในองค์กรจะมีความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้แล้วหรือยัง...

กวินธร ภู่ตระกูล ผู้จัดการประจำประเทศไทย เร้ดแฮท เผยว่า ออโตเมชั่นเป็นระบบที่ลูกค้าในประเทศไทยให้ความสนใจจำนวนมาก และยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้นเมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากภาคธุรกิจต้องการเครื่องมือที่ทำให้สามารถลดต้นทุน เวลาการทำงาน และที่สำคัญการดำเนินงานและบริหารจัดการทำได้รวดเร็วมากขึ้น

โดยออโตเมชั่นยังมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำได้รวดเร็วขึ้น ขณะนี้อุตสาหกรรมที่ตื่นตัวอย่างมากคือ โทรคมนาคม การผลิต รวมถึงบริษัทที่มีสาขาจำนวนมาก กล่าวได้ว่ามีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีกมาก ด้านความท้าทายหลักๆ คือความไม่มั่นใจที่จะนำมาใช้งาน

ผลสำรวจโดย Harvard Business Review ระบุว่า ผู้บริหารในเอเชียแปซิฟิก 95% ให้ความสำคัญกับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น, 80% การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร และ 40% ความสามารถในการพัฒนาและนำเสนอแอพพลิเคชั่นใหม่สู่ตลาด

“การที่องค์กรเร่งดำเนินงานดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นให้เร็วขึ้น ควรพิจารณาว่าระบบอัตโนมัติคือก้าวสำคัญก้าวหนึ่งในกระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้”

หนุนกลยุทธ์ ‘คลาวด์’

ข้อมูลระบุว่า รูปแบบไอทีใหม่ในปัจจุบันที่เป็นแบบไฮบริดซึ่งผสมผสานการใช้งานระหว่างเทคโนโลยีที่เป็นระบบดั้งเดิมที่ติดตั้งอยู่ในองค์กร ไพรเวท และพับลิกคลาวด์ กลยุทธ์ด้านเวิร์กโหลดของรูปแบบไอทีใหม่นี้ต้องพิจารณาถึงค่าใช้จ่าย ความปลอดภัย และความเชื่อถือได้ รวมถึงต้องรองรับข้อกำหนดและการปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ ด้วย

ด้านความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งที่ทีมไอทีต้องประสพคือ การหาวิธีลดกระบวนการและการทำงานแบบแมนนวลลง สอดคล้องกับไปข้อมูลการวิจัยของไอดีซีที่ระบุว่า 86% ของผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีกล่าวว่า “ระบบอัตโนมัติมีความสำคัญมาก ต่อกลยุทธ์การใช้คลาวด์ในอนาคตขององค์กร”

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการทำงานแต่ละชิ้นแบบอัตโนมัติจะเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาหลายประการ แต่เมื่อระบบไอทีขององค์กรเติบโตขึ้น ความพยายามที่จะติดตามตรวจสอบกระบวนการอัตโนมัติหลายๆ รายการตามชิ้นงานแต่ละชิ้น อาจก่อให้เกิดความสับสนได้มากพอๆ กับประโยชน์ที่ได้รับจากการที่ระบบอัตโนมัติช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ

รายงานจากฟอร์เรสเตอร์ รีเสิร์ช ระบุว่า ระบบอัตโนมัติคือ “สิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สำคัญมาก” (boardroom imperative) ของทุกอุตสาหกรรมและทุกภูมิภาค

ลดค่าใช้จ่าย-เพิ่มความยืดหยุ่น

เขากล่าวว่า คุณค่าที่เห็นได้ชัดของระบบอัตโนมัติคือ การขจัดการทำงานที่ต้องทำซ้ำๆ โดยประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ “การลดค่าใช้จ่าย” การนำระบบอัตโนมัติไปใช้ในกิจกรรมหรือกลุ่มงานต่างๆ ยังหมายถึงการลดเวลาในการทำงานแบบแมนนวลลงไป ทีมไอทีสามารถใช้กระบวนการแบบใหม่เพื่อสร้าง DevOps และ DevSecOps และนำไปใช้สร้างสรรค์แอพพลิเคชั่นใหม่ๆ และอัปเดทได้ทันตามเวลาที่ต้องการ

นอกจากนี้ ระบบอัตโนมัติยังช่วยให้สามารถดูแลตนเองและกระจายงานได้ เมื่อทุกคนทำงานกับองค์ประกอบรูปแบบใหม่ๆ เหมือนที่เราทำกันในปัจจุบันกับพนักงานจำนวนมากที่ทำงานจากระยะไกล เราต่างอยู่ภายใต้แรงกดดันด้านทรัพยากรและเวลา การกระจายงานและการดูแลตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้แก้ไขความท้าทายใหม่ๆ เหล่านี้ได้

ระบบอัตโนมัติช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถออกแบบและปรับโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ได้อย่างชาญฉลาด ในขณะเดียวกันเปลี่ยนระบบไอทีแบบเดิมไปเป็นคลาวด์-เนทีฟ

นอกจากนี้ ระบบอัตโนมัติยังใช้ข้อมูลเพื่อเจาะหาข้อมูลเชิงลึกสำหรับใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ ช่วยให้องค์กรมั่นใจในความปลอดภัย และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ทั้งยังช่วยให้ใช้งานบนไฮบริดคลาวด์ได้อย่างคล่องตัว

หากการปรับเปลี่ยนคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในปีนี้แล้ว องค์กรต่างๆ ก็ควรพิจารณานำระบบอัตโนมัติมาใช้เป็นส่วนสำคัญพื้นฐาน เพื่อให้ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นที่องค์กรกำลังดำเนินอยู่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม