ปลุกกระแส ‘5จี’ เปลี่ยนโลกอุตสาหกรรม
ผู้เชี่ยวชาญจากทรูฯ ย้ำความสำคัญเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง '5จี' เผยกุญแจเปิดสู่การพัฒนาไอโอทีและเอไอ ฟันเฟืองขับเคลื่อนโลกอุตสาหกรรม 4.0
5จี คือ เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายเจเนเรชั่นที่ 5 ที่รู้จักในศักยภาพของความรวดเร็ว สามารถดาวน์โหลดหนัง 4K ได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที รับส่งข้อมูลได้รวดเร็ว ใช้เวลาการเชื่อมต่อน้อยกว่า 0.001 วินาที และสามารถรองรับการเชื่อมต่อจากอุปกรณ์เพิ่มขึ้น 100 เท่า ด้วยความเร็วที่มาพร้อมความเสถียรที่มากขึ้น และคาดว่าเทคโนโลยี 5จี จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2563-2573 เฉลี่ยปีละ 5.68% จีดีพีประเทศ
นายธวัชชัย ฤกษ์สำราญ รองผู้อำนวยการธุรกิจโมบายล์ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ 5จี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ปลุกกระแส 5จี เปลี่ยนโลกอุตสาหกรรมอัจฉริยะ” ในการสัมมนา METALEX AI Forum2020 โดยย้ำถึงบทบาทความสำคัญของเทคโนโลยี “5จี” ที่เป็นเสมือนกุญแจที่นำไปสู่สิ่งสำคัญอย่างเอไอและไอโอที ที่ต้องอาศัยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จึงจะสามารถทำงานได้ ถือเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการพัฒนาสู่การผลิตแบบอัจฉริยะ (Smart Manufacturing) และโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory)
ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นรายแรกๆ ในอาเซียนที่มีการพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยี 5จี ซึ่ง 10 อันดับแรกที่พบ ได้แก่ 1.เออาร์/วีอาร์ 2.Connected Automotive 3.Smart Manufacturing 4.Connected Energy 5.Wireless eHealth 6.Wireless Home Entertainment 7.Connected Drones 8.โซเชียลเน็ตเวิร์ค 9.Personal AI Assistant และ 10.สมาร์ทซิตี้ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ต้องอาศัยเครือข่ายที่มีความเร็วสูงและมีเสถียรภาพ ดังนั้น 5จี จึงเข้ามาตอบโจทย์ในการพัฒนาประเทศไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นและมีความปลอดภัยในการทำงาน (Safety)
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบทุกอุตสาหกรรม ทำให้ภาพรวมรายได้ของภาคธุรกิจต่างๆ ลดลง 20-30% โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงาน โรงแรม และการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ได้เปิดทางให้เทคโนโลยี 5จี เข้ามามีบทบาทสำคัญ และกลายเป็น Game Changer สำหรับการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลที่ช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับมนุษย์
“เบื้องต้นจะพบการใช้งาน 5จีในพื้นที่ชุมชน เช่น มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล โรงงาน ห้างสรรพสินค้าและที่สำคัญคือพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งสิ่งที่ทาง กสทช.กำหนดคือ ภายใน 1 ปี 50% ของพื้นที่อีอีซีจะต้องมีสัญญาณเครือข่าย 5จี และคาดว่าภายในปี 2564 เทคโนโลยี 5จี เอไอและไอโอที จะอยู่ในอีอีซีอย่างมหาศาล เพื่อตอบความต้องการต่างๆในกระบวนการผลิต แต่สุดท้ายแล้วเทคโนโลยีจะไม่มีประโยชน์ถ้าไม่ได้สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับมนุษย์” ธวัชชัย กล่าว
ขณะที่การใช้งานที่เด่นชัดในต่างประเทศ อาทิ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม พบว่า 5จีสามารถรองรับการควบคุม ตรวจสอบและกำหนดค่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจากระยะไกลได้, เพิ่มประสิทธิภาพเทคโนโลยี VR/AR ด้านงานซ่อมบำรุงและการฝึกอบรม, สิ่งคุกคามทางด้านความปลอดภัย (safety hazard) โดย 5จีช่วยในการวิเคราะห์วีดิโอผ่านบริการเฝ้าระวัง เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานมีความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมการผลิต เช่น หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยและสัญญาณเตือนไฟไหม้ การแจ้งเตือนสิ่งเหล่านี้เป็นความปลอดภัยที่สำคัญจะส่งผลเสียต่อผลผลิต หากไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม
กรณีตัวอย่างสุดท้าย การซ่อมบำรุงเครื่องบิน จากข้อมูลพบว่า การซ่อมบำรุงเครื่องบินโดยทั่วไปนั้นต้องถอดอุปกรณ์เครื่องบินทุกชิ้นออกมาตรวจสอบประสิทธิภาพ ดังนั้น เมื่อนำเทคโนโลยีมาช่วยให้ลดข้อผิดพลาดเหล่านั้นได้ผ่านการบำรุงรักษาเครื่องบิน ด้วยวีดิโอ 4K และ AR หมายถึงการนำภาพซ้อนภาพอีกระดับหนึ่ง ทั้งหมดนี้ลดต้นทุนได้ถึง 60% และยังช่วยเพิ่มผลผลิตอีกด้วย
ทั้งหมดนี้จะช่วยส่งเสริมในเรื่องของความหน่วงเวลา (latency) ความเร็ว (speed) การเชื่อมต่อ (connect) ของยูสเคสต่างๆ คาดว่าสิ่งเหล่านี้จะเข้ามาอยู่ในชีวิตของมนุษย์มากขึ้นภายหลังจากนี้อีก 10 ปีข้างหน้า แต่ทั้งนี้ 5จี ในประเทศไทยถือว่าใหม่มาก ดังนั้น กรณีตัวอย่างและการพัฒนา จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องร่วมมือกัน เพื่อผลักดันไปสู่ความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ