‘ไทยฟู้ดส์’ วิจัย ‘เนื้อเทียม’ รับเทรนด์โลกหลังโควิด
ไทยฟู้ดส์กรุ๊ป(TFG)หนึ่งบริษัทในวงการอุตสาหกรรมอาหารแบบครบวงจรมายาวนานตั้งแต่ปี 2530 ร่วมขับเคลื่อนเทรนด์นวัตกรรมโปรตีนจากพืช เนื้อสัตว์เทียม ผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชั่นที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ซึ่งเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่มีอนาคตสดใสตอบความต้องการโลกยุคใหม
จากฟาร์มสู่แล็บเพื่อผู้บริโภค
จากผู้ผลิตและจำหน่ายเนื้อไก่รายใหญ่ของประเทศ ซึ่งเริ่มจากฟาร์มเลี้ยงไก่แห่งแรกใน จ.ลพบุรี โดยมีกำลังการผลิตวันละ 20,000 ตัว ก่อนขยายไปสู่ธุรกิจเพาะพันธุ์ไก่ ธุรกิจสุกร ธุรกิจอาหารสัตว์ พร้อมต่อยอดไปสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปพร้อมรับประทาน โดยนำวัตถุดิบมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจจึงทำให้ TFG กลายเป็น “ผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารแบบครบวงจร” ได้อย่างแข็งแกร่ง
ขณะที่เทรนด์อาหารทดแทนเนื้อสัตว์ หรืออาหารจากเนื้อสัตว์เทียมหรือ "เนื้อสะอาด” ที่ทำมาจากโปรตีนพืช มีแนวโน้มทะยานแตะ 100,000 ล้านดอลลาร์ภายใน 10-15 ปีนี้จากการวิเคราะห์โดยธนาคารเจพีมอร์แกน เชส เช่นเดียวกับธนาคารบาร์เคลย์ทำนายว่า ตลาดเนื้อสัตว์เทียมหรืออาหารทดแทนเนื้อสัตว์ จะเติบโตจนมีสัดส่วนราว 10% ของตลาดเนื้อสดทั่วโลก หรือคิดเป็นมูลค่าราว 140,000 ล้านดอลลาร์ ภายใน 10 ปีข้างหน้า
ดังนั้น เพื่อตอบโจทย์ตามเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภค และหวังช่วยสร้างความความมั่งคงทางด้านอาหารอย่างยั่งยืน ไทยฟู้ดส์กรุ๊ป จึงลงนามร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) วิจัยและพัฒนานวัตกรรมโปรตีนจากพืช ที่เน้นใช้วัตถุดิบในประเทศ เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเป็นส่วนผสมของอาหาร ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เทียม ผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชั่น ผ่านการทดสอบความปลอดภัย/ทดสอบประสิทธิภาพตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
ภัทราพรรณ รุ่งเจริญ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ยังตอบโจทย์ความต้องการของสังคมผู้สูงอายุตามแนวคิด “คุณภาพอาหาร คุณภาพชีวิต” ตลอดจนตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน สนับสนุนแนวทางทางขององค์การสหประชาชาติ
การพัฒนาเนื้อจากพืชในโครงการความร่วมมืองานวิจัยและการพัฒนาด้านนวัตกรรมนี้ มุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบในไทย เพื่อส่งเสริมเกษตรกรไทย และที่สำคัญทำให้คนไทยสามารถบริโภคอาหารโปรตีนจากพืช ในราคาที่ถูกกว่าการนำเข้ามาจากต่างประเทศ และได้รับคุณค่าทางโภชนาการเทียบเท่าเนื้อจริง ผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืชสไตล์ใหม่จะใช้วัตถุดิบพืชที่หลากหลายมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยขึ้น เพื่อให้ได้รสชาติ และรสสัมผัสที่ “เสมือนจริง” มากกว่า
ตั้งเป้าปี 64 ลิ้มรสเนื้อเทียม
บริษัทวางแผนจะเปิดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับร้านอาหารภายในประเทศ และกระจายผลิตภัณฑ์ให้ประชาชนทั่วไป ภายในปี 2564 และหวังว่าผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืชที่พัฒนาใหม่นี้ จะเป็นทางเลือกหนึ่งของการบริโภคที่ผู้บริโภคยังคงได้รับความอร่อยเสมือนการบริโภคเนื้อจริง ไม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และบริษัทไม่ได้พุ่งเป้าไปหาคนที่เป็นมังสวิรัติหรือวีแกนเท่านั้น แต่เจาะกลุ่มไปที่คนใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ บริษัทยังเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารแห่งอนาคต และการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนเพื่อเสริมสร้างสุขภาพของผู้บริโภค สิ่งแวดล้อมและการเพิ่มของจำนวนประชากรโลก และสนับสนุนการใช้วัตถุดิบในประเทศไทยเพื่อส่งเสริมเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืนอีกด้วย
“เราเชื่อมั่นว่า งานวิจัยนี้จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารของไทยและของโลก ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณอาหารและทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารได้ง่ายขึ้น ด้วยการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาในอุตสาหกรรมอาหาร ถือจะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน ช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงอาหารที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยยกระดับการศึกษาและวิจัยให้ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้จริง”
วิจัยตอบโจทย์อุตสาหกรรม
ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมโปรตีนจากพืชฐานชีวภาพของไทย เพื่อผลิตเป็นอาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชันและพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ โดยนำความเชี่ยวชาญและศักยภาพด้านเทคโนโลยีของ วว. บูรณาการวิจัยภายในจากหลายส่วน ได้แก่ ทีมวิจัยและพัฒนาด้านเกษตรและอาหาร นักเภสัชวิทยา ทีมวิจัยด้านสัตว์ทดลอง ทีมแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม
“เป้าหมายของการวิจัย วว. จะทำการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับเป็นส่วนผสมของอาหาร (Functional food Ingredients) ที่ไม่มีสารก่อภูมิแพ้ ต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์เทียม รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชั่น ซึ่งผลิตภัณฑ์ฯ จะผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆ คุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงผ่านการทดสอบตามข้อกำหนดของ สธ."