‘จิสด้า’ ปลุกไทยอัพสกิล เตรียมรุกอุตฯแอโรสเปซ

‘จิสด้า’ ปลุกไทยอัพสกิล เตรียมรุกอุตฯแอโรสเปซ

"อุตสาหกรรมอากาศยาน" เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมอนาคต หรือ New S-Curve ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนและเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงในอนาคตภายหลังสถานการณ์โควิด-19 

ตามการคาดการณ์ของบริษัทเครื่องบินรายใหญ่ของโลกอย่าง โบอิง และ แอร์บัส ระบุไว้ว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีเครื่องบินเพื่อการโดยสารและการขนส่งทั่วโลกประมาณเกือบ 4 หมื่นลำ เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 42% ถือเป็นโอกาสการลงทุนของประเทศไทยในการเชื่อมโยงเข้าสู่ซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมอากาศยานของโลก เนื่องด้วยไทยมีอุตสาหกรรมสนับสนุนรองรับที่หลากหลายทั้งด้านยานยนต์ เหล็ก ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น 

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ร่วมกับสถาบันยานยนต์ เดินหน้ายกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานตามมาตรฐานระบบคุณภาพ AS 9100 ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Clustering the Aerospace and Satellite In-country Manufacturing ภายใต้โครงการธีออส2 

อัพสกิลผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม

160795369669

ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า จิสด้ามุ่งเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ต้องการยกระดับไปสู่การผลิตชิ้นส่วนอากาศยานให้สามารถเข้าไปสู่ห่วงโซ่อุปทานของผู้ซื้อ หรือผู้ผลิตเครื่องบิน/ชิ้นส่วนอากาศยานรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตและพัฒนาชิ้นส่วนดาวเทียมดวงเล็ก หรือ Small Satellite System ซึ่งถือเป็นการเพิ่มความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนหรือดาวเทียมให้กับประเทศไทย ภายใต้โครงการธีออส2 (THEOS-2) โดยมีกิจกรรมโครงการคือ การประเมินศักยภาพสถานประกอบการ การให้คําปรึกษาแนะนํา และการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรให้ความรู้ ความสามารถ และมีทักษะเพื่อรองรับการเติบโตในอุตสาหกรรมอากาศยานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต

นับเป็นการเบิกทางให้ผู้ประกอบการไทยที่ไม่มีโอกาสที่จะก้าวสู่การเป็นซัพพลายเออร์ หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมได้มีความสามารถตรงจุดนี้มากขึ้น กลไกขับเคลื่อนผ่านความร่วมมือกับโรงงานสร้างดาวเทียมธีออสในฝรั่งเศส โดยกำหนดให้ใช้ชิ้นส่วนประกอบที่ผลิตจากประเทศไทยโดยตรง เพราะฉะนั้น บริษัทที่อยู่ในประเทศไทยสามารถเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมให้กับ Surrey Satellite Technology หรือ SSTL ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้ Airbus Defence and Space ได้ และผู้ประกอบการไทยจะสามารถพลิกตัวเองจากอุตสาหกรรมอื่นเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

160795371336

“การผลักดันในครั้งนี้ ผู้ประกอบการจะได้รับความรู้และแนวทางในการเตรียมตัวเข้าสู่อุตสาหกรรมแอโรสเปซ เพื่อสร้างเครือข่าย Global Value Chain ของอุตสาหกรรมอวกาศในไทย และมีกลุ่มคลัสเตอร์ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมแรกในไทย ส่วนสถานะถัดไปนั้นจะดำเนินการขยาย Global Value Chain ชิ้นส่วนดาวเทียมในไทย ผลักดันผู้ประกอบการไทยให้เข้าสู่ Vender List ในบริษัทการบินและอวกาศระดับโลก เช่น แอร์บัส โบอิง สเปซเอ็กซ์ในระดับ Tier-1 และให้มีการรับออเดอร์ในรูปแบบ Mass Production

ส่วนภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ซึ่งเป็น 1 ใน 11 S-Curve หรือ อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีโอกาสในการเติบโตอีกมาก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังมีไม่มาก ทั้งนี้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ศึกษามูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมที่ได้จากอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทย สูงถึง 35,559 ล้านบาท จึงถือได้ว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่สดใส

หวังปั้นคลัสเตอร์แอโรสเปซ

ปกรณ์ ได้อัพเดตจำนวนผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน โดยผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินและอากาศยาน Aerospace Standard AS9100 ว่ามีเพียง 50 ราย เพิ่มขึ้น 56.3% จาก 32 หน่วยงาน แบ่งเป็นบริษัทข้ามชาติประมาณ 70% โดยเป็นบริษัทที่เกิดมาจากความเป็นแอโรสเปซโดยตรง ส่วนบริษัทพันธุ์ไทยแท้มีเพียง 30% ส่วนใหญ่แตกไลน์มาจากอุตสาหกรรมยานยนต์ แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการบินและอากาศยานของไทยยังมีไม่มาก จึงต้องผลักดันให้สามารถเดินหน้าพัฒนาศักยภาพธุรกิจตนเองในด้านมาตรฐาน และยกระดับศักยภาพด้านเทคโนโลยีการผลิต

160795410198

สำหรับกลไกการดำเนินการต่อจากนี้คือ 1.ประสานงานทั้งเอกชนที่ผลิตชิ้นส่วน และบริษัทต่างประเทศที่เป็นคู่ค้าเพื่อเชื่อมโยงและสร้างความเชื่อมั่นให้กับซัพพลายเออร์ในต่างประเทศ 2.ส่งเสริมและขยายการสื่อสารให้กับบริษัทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผสานหน่วยงานภาครัฐมองหาจุดที่จะซัพพอร์ตได้ อาทิ ภาษี 3.สร้างความตระหนักรู้แก่ผู้ประกอบการถึงช่องทางของโอกาสในอุตสาหกรรมแอโรสเปซผ่านโครงการต่างๆ 4.สร้างมาตรฐานการผลิตเพื่อเป้าหมายในการดันไทยก้าวสู่การเป็นฮับการบินแห่งอาเซียน