กสทช.ปักหมุดแผนปี 64 พร้อมปล่อยคลื่น 3500 สู่การประมูล
อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเรียกได้ว่าไม่น้อยหน้าเซ็กเตอร์อื่น ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา “กสทช.”ปล่อยคลื่นให้ค่ายมือถือจับจองกันแบบปีเว้นปี และล่าสุดประมูลแบบมัลติแบรนด์รวดเดียว 3 ย่านทำเงินเข้ารัฐได้ถึง 100,521 ล้านบาท รวบยอดเงินทั้งหมดน่าจะเกิน 350,000 ล้านบา
ดังนั้น จึงไม่รู้ว่าเพราะ “ติดใจ” หรือไทยเรา“ขาดแคลน” คลื่นเพื่อใช้สำหรับให้บริการ ในปี 2564 ข้างหน้านี้ในช่วงเดือนพ.ย. เราอาจจะได้เห็นการประมูลคลื่นอีกครั้งในย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ และย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งหากเป็นตามไทม์ไลน์นี้ ก็น่าจะช่วยฉีดเม็ดเงินเข้าในตลาดไม่ต่ำกว่า 50,000-70,000 ล้านบาททีเดียว
รอบอร์ดใหม่เคาะแผนประมูล
สุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า โรดแมปในปี 2564 ของกสทช.ได้เตรียมความพร้อมสำหรับประมูลคลื่น 5จีในการนำคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 300 เมกะเฮิรตซ์ หากสำนักงานกสทช.ดำเนินการหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น คลื่นที่ต้องกันมาทำการ์ดแบนด์ เพื่อไม่ให้สัญญาณรบกวน ต้องใช้เท่าไหร่ รวมถึงการศึกษาเรื่องเงินเยียวยาคลื่นให้กับผู้ใช้จานดำกว่า 10 ล้านราย
คาดว่าจะดำเนินการศึกษาในช่วงไตรมาส 2 หรือ 3 ของปี 2564 ทั้งนี้ สำนักงานต้องเตรียมความพร้อมสำหรับเป็นข้อมูลให้กสทช.ชุดใหม่ตัดสินใจได้ทันที คาดจะสามารถออกหลักเกณฑ์การประมูลภายในปลายปี นอกจากนี้ยังมีคลื่นอื่นๆที่คาดว่าจะต้องเตรียมนำมาประมูลอีก ได้แก่ คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์เหลืออยู่ 35 เมกะเฮิรตซ์และ คลื่น 28 กิกะเฮิรตซ์จำนวน 2,000 เมกะเฮิรตซ์
"ปีหน้าเราต้องเร่งผลักดันให้เกิดยูสเคส 5จี ใหม่ๆ เช่นขยายไปในกลุ่ม การศึกษา ซึ่งอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรสถาบันการศึกษา กลุ่ม คมนาคม ขนส่ง เช่น การทำสถานีบางซื่อให้เป็นสถานี 5จี และกลุ่มการบริหารทรัพยากรน้ำ"
ดีลกับสดช.ร่ายแผนงาน3ด้าน
นอกจากนี้ กสทช.จะดำเนินงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) คาดว่าจะมีการเสนอต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ในเดือน ม.ค. 2564 นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า การส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี 5จี เป็น 1 ใน 4 แนวทางการดำเนินด้านกิจการโทรคมนาคม
ซึ่งสำนักงานกสทช.ต้องมีแผนในการดำเนินงานหลักๆคือ การส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน ทั้งการจัดระเบียบสายสื่อสาร แบ่งออกเป็นการจัดระเบียบสายสำหรับพื้นที่ที่ยังไม่สามารถลงดินได้จำนวน 600 กม. และการจัดระเบียบสายลงดินจำนวน 200 กม.
นอกจากนี้ต้องมีการขยายความเร็วอินเทอร์เน็ตในการให้บริการโครงการยูโซ่เน็ตในถิ่นทุรกันดารจากเดิมที่ให้บริการอยู่ที่ 30/10 Mbps รวมถึงการเร่งเปิดประมูลโครงการยูโซ่เน็ตในพื้นที่ที่ บริษัททีโอที ทำไม่เสร็จ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่นดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จโดยเฉพาะศูนย์ยูโซ่เน็ตที่มีปัญหาอยู่
ปฎิรูปกม.รองรับการหลอมรวม
สำนักงานกสทช.ต้องยกระดับการกำกับดูแลยุคใหม่ ได้แก่ การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่มีการหลอมรวมกัน การออกกฎ หรือ การกำกับผู้ได้รับใบอนุญาตให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงมีการขยายความร่วมมือความปลอดภัยด้านข้อมูลในบริการโทรคมนาคม
ต่อยอดจากที่ได้ตั้ง TCC-CERT เพื่อเฝ้าระวังภัยคุกคามด้านโทรคมนาคม ซึ่งจะมีการจับมือเพิ่มเติมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการเฝ้าระวังภัยไซเบอร์ที่เกิดในวงการการเงินกับวงการโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องกันด้วย ตลอดจนการยกระดับการให้บริการโทรคมนาคมให้มีมาตรฐานและความปลอดภัยผ่านโมบายล์ ไอดี และการยืนยันตัวตน e-KYC
และสุดท้ายทรานฟอร์มเมชันองค์กรไปสู่องค์กรดิจิทัล เพื่อให้มีจัดทำรายงานแบบอินเทอร์แอคทีฟมากขึ้น รวมถึงการนำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้งานให้เป็นประโยชน์ในการประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการ ตลอดจนหน่วยงานวิจัยทั้งภายใน และ นอกประเทศ
จากการร่างโรดแมปของสำนักงานกสทช.นั้น มีการเปิดเผยรายงานของ “หัวเว่ย” เกี่ยวกับสำหรับทิศทางเทคโนโลยี โดยระบุว่า โลกจะเข้าสู่ยุค 5.5จีแล้ว โดยจะมี 3 ปัจจัยประกอบด้วย
1.Uplink Centric Broadband Communication (UCBC) ตอบสนองการอัพโหลดเอชดีวิดีโอ บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งต้องใช้แบนวิดขนาดใหญ่ เป็น 10 เท่าของ 5จี
2. Realtime Broadband Communication (RTBC) รองรับโฮโลกราฟิกเต็มรูปแบบ เช่น วีอาร์ เออาร์ และที่เหนือกว่า คือ เอ็มอาร์ ผสมผสานกับเรื่องจริง ทำให้คอนเทนต์มีเรียลไทม์สามารถเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น
3. Harmonize Communication Sensing (HCS) เพื่อนำมาใช้งานระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเกิดขึ้นได้จริง เช่น การเชื่อมต่อรถยนต์กับรถยนต์ กรณี รถไร้คนขับ หรือ หุ่นโดรนเชื่อมต่อถึงกันได้จริงและแทบไม่มีความหน่วงเลย