กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ รศ. นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ร่วมมอบผลงานวิจัยหน้ากาก N99 จำนวน 4,000 ชิ้น และ ชุด PAPR จำนวน 1,000 ชุด ให้องค์การเภสัชกรรม และกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งต่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ COVID - 19 ที่กำลังระบาดระลอกใหม่อยู่ในขณะนี้
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีบทบาทภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย ให้ก้าวไปข้างหน้า ตลอดจนสนับสนุนกลไกการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์สำคัญของประเทศจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19
กระทรวง อว. พร้อมให้การสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ ทั้งในส่วนของอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงบุคลากร เจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาลเพื่อให้พร้อมสำหรับการปฏิบัติหน้าที่รองรับผู้ป่วยอย่างเต็มกำลังความสามารถ และขอให้มั่นใจว่ากระทรวง อว.พร้อมร่วมมือกับทุกหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่ดูแลประเทศไทยให้ผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ด้วยกันอีกครั้ง
"ในการเผชิญโรคระบาดบุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ในการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูง และในประสบการณ์ของประเทศไทยที่ผ่านพ้นการระบาดในรอบที่แล้ว ทำให้มีการเตรียมการทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพือพัฒนาอุปกรณ์ที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งครบทุกอย่างตั้งแต่ชุดตรวจวินิจฉัย อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล วันนี้มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชได้รับทุนวิจัยจาก วช.ได้พัฒนาตรวจสอบประสิทธิภาพ และมาตรฐานต่างๆจนสามารถผลิตหน้ากากสำหรับการแพทย์ N99 ที่มีประสิทธิภาพสูง ผลิตได้ในประเทศ และมีอุปกณ์ความดันบวกที่ทำให้บุคลากรทาง การแพทย์ไม่ได้รับเชื้อบนบรรยากาศ"
ปลัดกระทรวง อว. กล่าวต่อไปว่า ซึ่งได้มอบให้กับองค์การเภสัชกรรมและกรุงเทพมหานคร เพื่อกระจายให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ ซึ่งจำนวนนี้มีความเพียงพอสำหรับการใช้งาน หากนำไปเปรียบเทียบกับ N95 พบว่าการใช้งานสามารถนำไปใช้ได้ประมาณ 4-8 แสนวัน และหากมีความจำเป็นก็สามารถผลิตเพิ่มได้อีกภายใต้ต้นทุนและกระบวนการต่างๆเหล่านี้ที่สามารถบริการจัดการได้
สำหรับหน้ากาก N99 ที่พัฒนาขึ้นสามารถใช้ได้นานถึง 6 เดือน เมื่อครบระยะเวลาก็สามารถเปลี่ยนอุปกรณ์และล้างทำความสะอาดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จึงถือได้ว่าใช้ซ้ำได้นาน 100-200 ครั้ง
ทั้งนี้ยังมีการส่งเสริมการวิจัยใน 3 มิติคือ 1.การวิจัยและพัฒนาเพื่อให้แน่ใจว่ามีความพร้อมทางอุปกรณ์ เทคโนโลยี และเครื่องมือ อาทิ ชุดตรวจวินิจฉัย ห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของไทยทั้งสิ้น ส่วนอุปกรณ์ต่างๆ อย่างเช่นหน้ากากได้มีการต่อยอดการวิจัยเพิ่มเติมอีกด้วย
2.การวิจัยเพื่อที่จะนำองค์ความรู้มาใช้ในการควบคุมการระบาด เมื่อมีเชื้อ หรือ ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น นอกจากการสอบสวนโรคยังมีการวิจัยเชิงลึกจำนวนมาก อาทิ การศึกษารหัสพันธุกรรมของเชื้อว่ามีหน้าตาคล้ายกับเชื้อในกลุ่มใด มีที่มาอย่างไรบ้าง และมีการกลายพันธุ์หรือไม่
3.การวิจัยทางด้านวัคซีน ที่มีการสนับสนุนโดยตลอด และวัคซีนโดยคนไทยใกล้ที่จะนำมาใช้งานได้ ซึ่งอยู่ในช่วงของการผลิตขั้นสุดท้ายเพื่อทำการทดสอบประสิทธิภาพในการใช้งานจริง ผลการประเมินเบื้องต้นออกมาเป็นที่น่าพอใจ
ทั้งนี้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผ่านมาตรฐานแล้วเทียบเคียงกับต่างประเทศเพื่อผลิตใช้เองในประเทศแล้วนั้น หากมีเพียงพอในการใช้งานภายในประเทศ ในอนาคตก็จะสามารถที่จะส่งออกได้ในอนาคต แต่เบื้องต้นจะต้องซัพพอร์ตกำลังการใช้งานในประเทศก่อนเป็นอันดับแรก
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มอบหมายให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยงานดำเนินการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมด้านเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ วช.จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันดังกล่าว ซึ่งในวันนี้ผลสำเร็จของงานวิจัยหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ทำจากซิลิโคน ชนิด N 99 จำนวน 4,000 ชิ้น
และหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศ (PAPR) จำนวน 1,000 ชุด ซึ่งเป็นผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช นำโดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ร่วมกับทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และวิทยาลัยพัฒนาชุมชนเมือง ของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เพื่อมอบให้กับองค์การเภสัชกรรมและกรุงเทพมหานครเพื่อส่งต่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้รับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ต่อไป