'โฮลดิ้ง คอมพานี' มิติใหม่ปั้นธุรกิจนวัตกรรม
โฮลดิ้ง คอมพานี (Holding Company) หรือกิจการร่วมทุน หนึ่งในกลไกสนับสนุนให้เกิด “ธุรกิจฐานนวัตกรรม” โดยนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยมาผนวกกับความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจของภาคเอกชน
เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชนที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่า และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม ขณะเดียวกันก็เป็นกลไกที่ช่วยผลักดันงานวิจัยในมหาวิทยาลัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหน่วยงานของรัฐและมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศก็ใช้กลไกนี้และประสบความสำเร็จมาแล้ว ในส่วนของประเทศไทยมีมหาวิทยาลัย 5 แห่งที่ได้จัดตั้งและดำเนินการแล้วโดยเห็นภาพชัดเจน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
‘อีโคซิสเต็ม’ ดึงวิจัยสู่ห้าง
กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า Holding Company มีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากหน่วยงานวิจัยของรัฐหรือมหาวิทยาลัย โดยมีการบริหารงานแบบมืออาชีพ มีความคล่องตัวสูงเหมาะกับการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
สอวช.จึงมีความพยายามส่งเสริมให้มีการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งในมหาวิทยาลัยอื่นๆ แต่การจัดตั้งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ผนวกกับความกังวลของมหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีประสบการณ์ จึงจัดทำแนวทางการส่งเสริมใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.จัดทำ Guiding Principle เพื่อสร้างความมั่นใจในการดำเนินการ 2.การส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยนำเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยไปร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม
3.สนับสนุนการปรับปรุงระเบียบภายในของมหาวิทยาลัยให้เอื้อต่อการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม อาทิ ระเบียบที่จะให้อาจารย์ไปร่วมทำงานในบริษัทโฮลดิ้ง โดยที่ยังดำรงตำแหน่งในภาควิชา และ 4.ส่งเสริมมหาวิทยาลัยสร้าง Spin-off/Startup เริ่มจากธุรกิจขนาดเล็กที่เน้นการวิจัยและนวัตกรรม โดยให้นักวิจัยไปเป็นผู้บริหารหรือทำวิจัยในบริษัทร่วมทุนได้แบบชั่วคราวและมีสิทธิ์กลับมาดำรงตำแหน่งเดิม
“บริษัทโฮลดิ้งอาจจะมีมากกว่า 5 มหาวิทยาลัย แต่ที่เห็นภาพชัดเจนก็คือ 5 แห่งดังกล่าว บางแห่งมีเงินลงทุนเข้าไปเยอะพอสมควร อย่างของจุฬาฯ ชื่อ CU Enterprise ที่ Chula Alumni ลงขันไปแล้วประมาณ 200 ล้านบาท จุฬาฯ ก็มีสินค้าเทคโนโลยีปล่อยออกมาเรื่อยๆ อย่างเช่น ใบยา ไฟโตฟาร์ม มีสินค้าเป็นชุดตรวจโควิด-19 และกำลังพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 นอกจากนี้ CU Enterprise ยังตั้งมูลนิธิเพื่อระดมทุนผ่านทางคลาวด์ฟันดิ้ง เบื้องต้นมีผู้สนใจใส่เงินเข้ามาแล้วเกือบ 2 แสนรายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนของใบยา”
ส่วน อ่างแก้ว โฮลดิ้ง ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 49% แม้จะลงเป็นทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ด้านการบริหารจัดการการแข่งกีฬาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล แต่มีบริษัทสตาร์ทอัพ เช่น Baak มาลงทุน เพื่อต่อยอดนำงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรมและเอกชน
พ.ร.บ.ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 2551 ได้เปิดช่องไว้ว่า มหาวิทยาลัยสามารถร่วมลงทุนกับนิติบุคคลอื่นได้ โดยการเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยฯ จึงได้เสนอเรื่องและได้รับความเห็นชอบให้จัดตั้ง บริษัท อ่างแก้ว โฮลดิ้ง จำกัด ที่ผ่านมาได้ดำเนินการร่วมทุนแล้วกับ 3 บริษัทที่มีการประกอบการด้านพลังงาน ซอฟต์แวร์และการผลิตสารสกัดจากแมลง โดยคัดเลือกนวัตกรรมและองค์ความรู้จากภายในมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมในการนำไปต่อยอดได้จริงในภาคอุตสาหกรรม
ชงไอเดียตั้ง ‘โฮลดิ้งกลาง’
นอกจากนี้ยังมีหลายมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยที่สนใจจัดตั้ง Holding Company แต่ยังมีความไม่แน่ใจเกี่ยวกับอำนาจและขั้นตอนการจัดตั้ง ด้วยเป็นมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก ไม่มี IP มากพอ ตลอดจนสถานะและการดำเนินของกิจกรรมการร่วมลงทุน ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการตีความกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ
ดังนั้น เพื่อสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว สอวช. กำลังพิจารณาและดำเนินการสร้างความเข้าใจด้านกฎหมาย/ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง และจัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงาน ตลอดจนจัดทำระเบียบ มาตรการส่งเสริมร่วมลงทุนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ตาม พ.ร.บ. การส่งเสริมการวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม (ววน.) มาตรา 31 พร้อมจัดทำรายละเอียดของมาตรการส่งเสริมการดำเนินงานของ Holding Company อย่างเช่น การจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งกลาง ที่ถือเป็นอีกทางออกหนึ่ง
“ตอนนี้กำลังจะสำรวจว่ามีมหาวิทยาลัยใดบ้างที่ยังไม่มีบริษัทโฮลดิ้ง และไม่สามารถจัดตั้ง หลังจากนั้นจะต้องนำ IP มารวมกันเพื่อพิจารณาดูความเป็นได้ในทางเศรษฐศาสตร์ โดยจะร่วมปรึกษากับทางภาคเอกชนที่มีศักยภาพและสนใจร่วมหุ้น เบื้องต้นอาจจะเป็นตัวเลขสัดส่วน 51% ส่วนโฮลดิ้งกลางลงหุ้น 49% เพื่อหาข้อสรุปของกระบวนการทำงานร่วมกัน” กิตติพงค์ กล่าว
บริษัทโฮลดิ้งกลางจะไม่สังกัดมหาวิทยาลัย แต่หากมหาวิทยาลัยต้องการจะลงทุนก็สามารถทำได้ ด้วยการนำ IP มาใส่และได้หุ้นคืน เมื่อถามถึงข้อจำกัด พบว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่อง “ความไม่มั่นใจ” ของทางมหาวิทยาลัย ดังนั้น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จะช่วยเสริมด้านความเป็นมืออาชีพเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น