‘โควิด’ ป่วนโลก ดันธุรกิจปรับ ‘5จี’ มาถูกจังหวะหนุนการแพทย์ยุคใหม่
โควิด-19 ดันให้โลก อาเซียน และประเทศไทย ปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัล หรือทรานส์ฟอร์มไปโลกยุคใหม่ได้อย่างเหนือความคาดหมาย
นาวีน เมนอน ประธานภูมิภาคอาเซียน ซิสโก้ กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 เผยให้เห็นถึงศักยภาพของมนุษย์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตและการทำธุรกิจ ภายในเวลาอันรวดเร็ว ช่วงเริ่มต้นหลายภาคส่วนได้รับผลกระทบที่รุนแรงและจำเป็นต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ ขณะเดียวกันมีการดำเนินกลยุทธ์ที่แปลกใหม่ มีทัศนคติและวิธีคิดที่ยืดหยุ่น ที่น่าสนใจได้เห็นคลื่นนวัตกรรมลูกใหญ่กำลังเกิดขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในโลกวิถีใหม่
ทั้งเปิดโอกาสให้ธุรกิจสตาร์ทอัพแจ้งเกิด ข้อมูล STATION F หนึ่งในแคมปัสสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก พบว่า 18% ของสตาร์ทอัพทั่วโลกมุ่งเน้นการทำตลาดใหม่ตั้งแต่การแพร่ระบาดเริ่มต้น และอีก 13% มีแผนที่จะดำเนินการไปอีกอย่างต่อเนื่อง
ธุรกิจ 3 เซ็กเตอร์ที่สำคัญ ได้แก่ การศึกษา สาธารณสุข ซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ เป็นกลุ่มที่มีการตอบสนองต่อวิกฤติการณ์และการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาการหยุดชะงักของธุรกิจและการให้บริการ พบว่า โรคโควิด-19 ส่งผลให้สถานศึกษาต้องปิดชั่วคราว และส่งผลกระทบต่อนักเรียนนักศึกษาหลายพันล้านคนทั่วโลก รวมถึงนักเรียน นักศึกษา 160 ล้านคนในอาเซียน
ซิสโก้ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล ผลพวงจากวิกฤติโรคระบาดเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับสถานพยาบาล การลงทุนทางเทคโนโลยี รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน โดยความคล่องตัวและนวัตกรรมคือข้อได้เปรียบที่สำคัญสำหรับดิสรัปเตอร์ในการก้าวเข้าสู่ธุรกิจเฮลธ์แคร์ด้วย
โทรคมไทยปี 63 ดัน 5จี สู้โรคระบาด
หลังเกิดการล็อกดาวน์ ทุกคนถูกกำจัดการเดินทาง การทำงานยุคใหม่เริ่มขึ้นผ่านสิ่งที่เรียกว่า “เวิร์ค ฟรอม โฮม” ได้เห็นการนำเทคโนโลยีด้านการสื่อสารเข้ามาใช้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะ “สาธารณสุข”
แต่ก่อนจะมีการระบาดอย่างหนักในเดือน ก.พ.ปี 2563 มีประเด็นร้อนแรงของวงการโทรคมนาคมเกิดขึ้นก่อน นั่นคือการเปิดประมูล 5จี ของไทย และถือเป็นชาติแรกในอาเซียน โดยความพยายามผลักดันอย่างหนักของ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” อดีตเลขาธิการคณะกรรมการ กสทช. จนในที่สุดค่ายมือถือกดเคาะราคากันหนักหน่วง ส่วนรัฐบาลก็ยิ้มรับเงินรายได้จากการประมูลครั้งนี้ไปกว่า 100,521 ล้านบาท
และไม่รู้ด้วยความบังเอิญหรือเทรนด์เทคโนโลยีในขณะนั้น เพราะการมาของ 5จี เหมือนมาได้ถูกจังหวะ เพราะหลังเปิดประมูลกันไปไม่นาน เกิดการล็อกดาวน์ ความต้องการใช้แบนด์วิธอินเทอร์เน็ตก็พุ่งทะยานขึ้นเกิน 100% จากความจำเป็นของ เวิร์ค ฟรอม โฮม และเป็นข้อดีของผู้ให้บริการที่มีคลื่นเพียงพอต่อการให้บริการ
รวมถึงยูสเคส 5จี ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การแพทย์ สาธารณสุข การเกษตร ตลอดจนการค้าขายออนไลน์ ยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้น สิ่งที่หลายคนยังจินตนาการไม่ออก หรือเห็นแต่ในห้องแล็บหรือภาพยนตร์ จากวิกฤติโควิด-19 ภาพการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมก็ฉายสิ่งเหล่านี้ได้แจ่มชัดขึ้น
กลุ่มทรูฯพัฒนา‘วีรูม’สัญชาติไทย
“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้คนไทยต้องปรับการทำงาน และการเรียนสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น กลุ่มทรูได้พัฒนาแพลตฟอร์ม “TRUE VIRTUAL WORLD” ศูนย์รวมโซลูชั่นที่ครบวงจรครั้งแรก ตอบโจทย์ทุกความต้องการของธุรกิจ ภาคการศึกษา และคนไทยในช่วงเวลานั้น
“วิกฤติโควิด-19 เป็นประตูสู่การทรานฟอร์มเมชั่นประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีอย่างแท้จริง” ศุภชัย กล่าว
โดยสามารถใช้งานได้ฟรี ผ่านเว็บไซต์ www.truecorp.co.th รองรับการทำงานที่บ้านทุกที่ทุกเวลา สามารถจัดเก็บข้อมูลบน ระบบคลาวด์ สามารถสั่งงาน ขออนุมัติ ส่งรับไฟล์งาน ตั้งกลุ่มและ ส่งข้อความแชท แจ้งข่าวสาคัญของ องค์กร มี ฟีเจอร์ VIRTUAL CONNECT จัดการประชุมออนไลน์ผ่านเสียง หรือวิดีโอ คอลล์ ได้ทั้งแบบรายบุคคลและแบบกลุ่มได้สูงสุดถึง 1,500 คน พร้อมบันทึกคลิปเก็บไว้ได้ในเวลาเดียวกัน
เอไอเอสเบิกงบฉุกเฉินฝ่าโควิด
“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า ได้ใช้ช่วงเวลาโควิด-19 สนับสนุนบริการทางการแพทย์และงานสาธารณสุข ผ่านการเสริมกำลังทัพด้วย 5จี เนื่องจาก 5จี มีศักยภาพสูง ทั้งในแง่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ตอบสนองต่อการสั่งงานที่รวดเร็ว และมีความหน่วงต่ำ พร้อมรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ หรือไอโอที ที่หลากหลาย จึงเหมาะที่จะนำมาประยุกต์ใช้เป็นโครงข่ายดิจิทัลพื้นฐานสำคัญต่อการปฏิบัติงานทางการแพทย์
ครั้งนี้ เอไอเอสใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีให้ในท่ามกลางโควิด ราว 100 ล้านบาท โดยใช้ในเรื่องหลักๆ คือ ติดตั้งเครือข่าย 5จี ใน 20 โรงพยาบาล ที่รับตรวจและรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และกำลังขยาย 5จี เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่โรงพยาบาลใน กทม.และปริมณฑลอีก 130 โรง และในต่างจังหวัดอีก 8 โรงรวมทั้งสิ้น 158 โรง เพื่อรองรับการปฏิบัติงานของเทคโนโลยีและโซลูชันทางการแพทย์ ที่ต้องการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และการตอบสนองที่รวดเร็ว